วันนี้ (24 ก.ย.63) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) , นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน), นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย
ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
คดีนี้เริ่มพิจารณาไต่สวนพยานในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมาจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2563 ขณะที่จำเลยที่ 6-7, 10-12 หลบหนีคดี ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว
องค์คณะพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่านายวัฒนา จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรมว.พัฒนาสังคมฯ มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับกิจการการเคหะแห่งชาติ ดูแลผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือนโยบายโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ โดยแก้ไขการยื่นข้อเสนอทำบ้านเอื้ออาทร ให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องยื่นหลักประกัน และให้การเคหะแห่งชาติมีมติอนุมัติโครงการ ซึ่งพยานโจทก์มีความเห็นต่างกันถึงข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่
การที่จำเลยที่ 1 มีบันทึกแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ก็เกี่ยวเนื่องกับผู้ปกระกอบการต้องปฏิบัติ ลำพังเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157 แม้จะมีการเรียกรับ แต่ก็ไม่ได้เป็นผลโดยตรง เนื่องจากผู้ประกอบการมีคุณสมบัติตามประกาศที่แก้ไขใหม่อยู่แล้ว จึงยังบ่งชี้ไม่ได้ว่าจำเลยใช้อำนาจแทรกแซงคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ
มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยที่ 1 ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลมอบให้หรือหามาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 หรือไม่ องค์คณะเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีความเกี่ยวข้องแค่นโยบายเท่านั้น แต่ลักษณะการกระทำผิดคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่นายอภิชาติ จำเลยที่ 4 และ น.ส.รุ่งเรือง จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นคนนอกจะกระทำได้เอง โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ไม่อาจแสดงตนว่าเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 ได้เอง และที่นายพรพรหม จำเลยที่ 3 จัดส่งเอกสารการประชุมให้ น.ส.รัตนา จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคนนอก ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะส่งเองได้
อีกทั้งได้ความจากพยานว่าจำเลยที่ 1 สั่งจำเลยที่ 3 ให้จัดส่งเอกสาร แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ติดตามสนใจโครงการบ้านเอื้ออาทรอย่างใกล้ชิด เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้เห็นเรื่องการเรียกรับเงิน การที่จำเลยที่ 1 ปล่อยให้จำเลยที่ 4 แสดงตนอย่างไม่เป็นทางการ และอ้างว่าผู้ประกอบการไปติดต่อจ่ายเงินกับจำเลยที่ 4 เอง เพื่อให้ตนพ้นผิดหาได้ไม่
พฤติการณ์จำเลยที่ 1 เป็นการเอื้ออำนวยให้จำเลยที่ 4 โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 1 แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้ติดตามทวงเงินผู้ประกอบการ อีกทั้งพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 4 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำการเข้าไปมีส่วนเรียกรับทรัพย์ผู้ประกอบการแต่ละรายล่วงหน้า เพื่อตอบแทนการอนุมัติโครงการ
ส่วนการเรียกรับและการเรียกเงินโดยตรงแม้ทางไต่สวนจะเชื่อมโยงกับจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินเองก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เนื่องจากหลักฐานชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้มีการนำเงินมามอบให้ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 148 จึงไม่จำเป็นต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอญามาตรา 157
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
บทสรุป“ทุจริตบ้านเอื้ออาทร” คุก 7 คน ริบทรัพย์ 3,182 ล้าน
ศาลฎีกาสั่งจำคุก“วัฒนา เมืองสุข”99 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
ส่วนจำเลยที่ 4 มีผู้ประกอบการเบิกความว่าจำเลยที่ 4 แนะนำตัวเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาโครงการอสังหาริมทรัพย์ สามารถช่วยดำเนินการให้อนุมัติก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรได้ เมื่อผู้ประกอบการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 4 ก็จะได้รับการอนุมัติก่อสร้างทุกราย แม้บางรายจะได้รับการอนุมัติหลังปิดโครงการไปแล้ว
แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่ามีการทำสัญญา ประกอบกับไม่มีผลงานแสดงให้เห็นสมเหตุสมผลกับเงินที่จ่ายให้จำเลยที่ 4 ถึงร้อยกว่าล้านบาท อีกทั้งผู้ประกอบการรายอื่นมีประสบการณ์ธุรกิจก่อสร้างมาก่อน ย่อมมีประสบการณ์มากกว่าจำเลยที่ 4 ที่ชำนาญเพียงด้านการค้าข้าว และไม่มีธุรกิจก่อสร้างจริงจัง
ถ้าจำเลยที่ 4 ไม่อ้างว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องว่าจ้างจำเลยที่ 4 เพียงรายเดียว ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 มีความชำนาญด้านการก่อสร้าง เงินที่จ่ายเป็นค่าที่ปรึกษาก็เป็นข้ออ้างให้ผู้ประกอบการสามารถลงบัญชีได้
ส่วนจำเลยที่ 5-7 เปิดบัญชีเพื่อประสานงานและติดตามทวงเงินจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 หากไม่รู้เห็นก็ไม่ทีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 4 จะให้เข้ามาทำงาน เพราะจะทำให้งานเสีย และเป็นการเปิดเผยแผนการให้คนนอก จากพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 5-7 มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนงานให้สำเร็จ จึงฟังได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 4 กระทำผิด
สำหรับนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด 1 กระทง จึงถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งองค์คณะเสียงข้างมากเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้หญิงที่รับเงิน 40 ล้านบาท เป็นใครและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 10 อย่างไร แต่คำเบิกความของพยานเป็นการซักถามถึงการจ่ายเงินด้วยความระมัดระวัง
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 10 เป็นการยุยงส่งเสริมให้พยานตัดสินใจจ่ายเงิน 40 ล้านบาท เพื่อให้โครงการได้รับอนุมัติ ประกอบกับเช็กที่จ่ายไปถึงจำเลยที่ 7-8 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับขบวนการในคดีนี้ แม้ผู้กระทำผิดจะรู้ถึงความช่วยเหลือของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 10 ก็ถือเป็นการสนับสนุน
ส่วนของนายมานะ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงไม่ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีการเรียกรับทรัพย์สินหรือรู้เห็นด้วย จำเลยที่ 2 ไม่น่ามีส่วนร่วม เป็นเพียงการประสานให้จำเลยที่ 11 ยื่นเอกสารให้ทันเท่านั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจสนับสนุนจำเลยที่ 1
สำหรับนายพรพรหม จำเลยที่ 3 เดิมเป็นข้าราชการ ที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ช่วยประสานงาน พยานไม่เห็นว่าจำเลยที่ 3 ทำงานนอกเหนือการประสานงานทั่วไป ส่วนกรณีที่ให้จัดส่งเอกสารตามที่จำเลยที่ 5 ร้องขอ ก็เป็นการประสานในกรอบหน้าที่ธุรการ ขณะที่มีพยานบอกเล่ากลับคำให้การ ทำให้คำให้การมีน้ำหนักลดน้อยลง ไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย
ประเด็นจำเลยที่ 9, 11-14 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 9, 11-14 เป็นฝ่ายที่ถูกข่มขืนใจให้นำเงินมามอบให้ ทั้งที่มีคุณสมบัติอยู่แล้ว เป็นฝ่ายถูกจูงใจ ไม่ถือเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนในการทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดเป็นตัวการ จำเลยที่ 9, 11-14 จึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุน
พิพากษาว่า นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1 มีความผิดฐาน ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวม 11 กระทง จำคุกกระทงละ 9 ปี รวมจำคุก 99 ปี แต่โทษจำคุกให้จำคุกสูงสุด 50 ปี
และจำคุก นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยงเปี๋ยง จำเลยที่ 4 นักธุรกิจค้าข้าว รวม 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี แต่ให้โทษจำคุกสูงสุด 50 ปี
จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทของเสียง จำคุก 4 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 20 ปี
จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัท เพรสซิเด้นอะกริ เทรดดิ้ง จำกัด มีความผิด 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี
จำเลยที่ 7 น.ส.รุ่งเรือง คุณปัญญา พนักงานบริษัทเพรซิเดนท์ฯ ความผิด 8 กระทง กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 32 ปี
จำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ให้จำคุก 4 ปี
ส่วนจำเลยที่ 8 บริษัท เพรซิเดนท์ อะ กริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยมีนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ให้ปรับเงินกว่า 275,000 บาท
ศาลยังสั่งให้นายวัฒนา จำเลยที่ 1 , นายอภิชาติจำเลยที่ 4 , นางสาวกรองทองจำเลยที่ 6 และ บริษัท เพรซิเดนท์ฯ จำเลยที่ 8 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,323,006,750 บาท
น.ส.รัตนา จำเลยที่ 5 จำนวน 763 ล้านบาทเศษ น.ส.รุ่งเรือง จำเลยที่ 7 จำนวน 1,056 ล้านบาท นายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 จำนวน 40 ล้านบาท ทั้งนี้โทษปรับให้ดำเนินการชำระเงินภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะยึดทรัพย์
นอกจากนี้มีคำสั่งยกฟ้อง นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ จำเลยที่ 2 , นายพรพรหม วงศ์วิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงินบริษัทปริญสิริจำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 , บริษัทจิวเวอร์รี่อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 9, และจำเลยที่ 11 บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, จำเลยที่ 12 บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด , จำเลยที่ 13 บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และจำเลยที่ 14 น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ
และออกหมายจับจำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว , จำเลยที่ 7 นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา และจำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เพื่อให้นำตัวมารับโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลฎีกาอนุญาตให้ นายวัฒนา ประกันตัว หลังทนายและญาติยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท เป็นบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาท เเละเติมเงินสดเพิ่มอีก 5 ล้านบาท โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นได้รับอนุญาต