กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0211.5/15530 ลงวันที่ 29 กันยายน 2563 เรื่อง การดำเนินโครงการบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัด ถึง นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและชี้แจง กรณี กลุ่มธรรมาภิบาลฯได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เพื่อให้ตรวจสอบขบวนการค้างบประมาณแผ่นดิน ที่ไปเรียกเก็บหัวคิวงานขุดลอกแหล่งน้ำ 35-50% ทั่วประเทศกับผู้ประกอบการโดยอ้างชื่อ"บิ๊ก ฉ."และ"บิ๊ก ป."งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท โดยนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าว เนื้อหาหนังสือได้ชี้แจงสาระสำคัญ ดังนี้
1.ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้จังหวัดดำเนินโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จำนวน 2 ครั้ง รวม 20,425 โครงการ งบประมาณ 10,691 ล้านบาท ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 สำหรับ76 จังหวัด จำนวน 18,927 โครงการ งบประมาณ 9,957 ล้านบาท
และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 สำหรับ 30 จังหวัด 1,498 โครงการ งบประมาณ 734 ล้านบาท โดยไม่ใช่งบประมาณของกระทรวงมหาดไทยและมิได้จัดสรรผ่านกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางแต่อย่างใด
แต่ให้จังหวัดเป็นหน่วยงานรับงบประมาณและหน่วยงานดำเนินการประกอบด้วยหลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยโครงการชลประทานจังหวัด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต กระทรวงกลาโหมโดยมณฑลทหารบก และกระทรวงมหาดไทย โดยที่ทำการปกครองอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รัฐวิสาหกิจ(การประปาส่วนภูมิภาค) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตามข้อเสนอของจังหวัด
2.ขั้นตอนการดำเนินโครงการได้กำชับให้จังหวัดดำเนินโครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณกำหนด โดยให้จังหวัดส่งคำขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรงและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ยึดถือและปฎิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน
ในท้ายหนังสือดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยได้ขอเชิญให้กลุ่มธรรมาภิบาลฯร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการ หรือ กรณีพบเบาะแสข้อเท็จจริงใดๆ สามารถแจ้งต่อกระทรวงมหาดไทยได้ทราบโดยตรงเพื่อกำกับ ดูแล และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งหากทางกลุ่มธรรมาภิบาลฯประสงค์ได้รับข้อเท็จจริง ให้สามารถประสานจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ปฎิบัติการได้โดยตรง
โดยจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยได้เชิญกลุ่มธรรมาภิบาลฯเข้าร่วมติดตามตรวจสอบตามหนังสือดังกล่าวนั้น กลุ่มธรรมาภิบาลฯจึงได้เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบการเรียกเก็บหัวคิว และตรวจสอบสัญญาจ้างขุดลอกแบบตกลงจ้างทุกสัญญาว่ามีความผิดปกติและไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือไม่
และหากพบความไม่ถูกต้องไม่ชอบมาพากล มีการทุจริต จะสรุปเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ยกเลิกสัญญาทุกกรณีและให้ดำเนินจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่สุจริตต่อไป
โดยเบื้องต้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2563 นี้จะลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสาคาม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และนครพนม และจะจัดคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบให้ครงทั้ง 76 จังหวัดต่อไป
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า มีข้อมูลในหลายๆจังหวัดว่า การทำสัญญาทั้งหมดทั่วประเทศได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา และมีการเรียกเก็บหัวคิวกันจริง คือ 35-50% ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าหดหู่ที่สุด คือ ข้อมูลหลายๆอำเภอพบว่า มีนายอำเภอที่เห็นแก่ ประโยชน์ส่วนตนหลายคน หลายอำเภอและหลายจังหวัดเป็นผู้เรียกเก็บหัวคิวเสียเอง เรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งทางกลุ่มธรรมาภิบาลฯจะสืบค้นหาข้อเท็จจริงและหาผู้เสียหายมาแสดงตนเพื่อเอาผิดต่อผู้เรียกเก็บหัวคิวซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในขบวนการค้าประมาณแผ่นดินครั้งมโหฬารนี้มาลงโทษตามกฏหมายต่อไป"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง