‘พรก.ฉุกเฉิน’ สยบม็อบ ‘คณะราษฎร63’อ่อนแรง?

18 ต.ค. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2563 | 09:23 น.

 

 

การชุมนุมของกลุ่มคณะ “คณะราษฎร 2563” เพื่อเรียก ร้องใน 3 ข้อ คือ 

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี 

2. เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 

และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ ภายใต้รัฐธรรมนูญตามครรลองประชาธิปไตยที่แท้จริง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 

ได้ลุกลามเลยเถิดไป มีสิ่งที่ไม่เหมาะ ไม่ควร กระทบความรู้สึกของคนไทยเกิดขึ้น จนกระทั้ง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป

ด้วยเหตุผลที่ว่า มีบุคคลหลายกลุ่มเชิญชวนปลุกระดมให้มีการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายชุมนุมสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดความปั่นป่วนไม่สงบเรียบร้อย มีการ กระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน อันมีเหตุควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคง มิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าว เพื่อให้ยุติ 

ประกาศดังกล่าวยังได้กำหนดข้อห้าม อาทิ ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุ่ม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทบการใดอันเป็นการยุยงไม่ให้เกิดความสงบเรียบ ร้อย ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใด รวมทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย 

 

‘พรก.ฉุกเฉิน’  สยบม็อบ ‘คณะราษฎร63’อ่อนแรง?

 

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงเหตุผลการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ว่า เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยจะเห็นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่มีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับชาวไทย จำนวนมาก จากการชุมนุมที่กระทบขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และมีการก้าวล่วงสถาบัน โดยการใช้วาจาปลุกปั่นก้าวล่วง 

ดังนั้น รัฐบาลป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกันเอง เพราะจะเห็นว่าหลายส่วนไม่ต้องการให้กลุ่มชุมนุมก้าวล่วงและพาดพิง รวมทั้งไม่ต้องการให้เหตุการณ์การแบบนี้เกิดขึ้นอีก

 

 

 

 

ผลจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการเข้าควบคุม แกนนำม็อบ “คณะราษฎร 2563” ในรุ่งเช้าของวันที่ 15 ต.ค. 2563 โดยมีลำดับเวลาดังนี้

เวลา 04.00 น. พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถาน การณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

เวลา 04.10 น. กำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าเต็มพื้นที่กลุ่มผู้ชุมนุม

เวลา 04.25 น. นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ประกาศให้มวลชนออกจากพื้นที่ โดยใช้ถนนนางเลิ้ง หลังนายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เวลา 04.40 น. ผบช.น.อ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ผู้ชุมนุมฟัง ให้เวลา 15 นาทีเก็บของ เดินมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่หากไม่ปฏิบัติตาม จะจับกุมตามกฎหมาย

เวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำผู้ชุมนุม นายอานนท์ นำภา, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปกองบังคับ การตำรวจตระเวนชายแดน ภูธรภาค 1

เวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่สืบสวนนครบาลนำกำลังจับ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” แกนนำม็อบคณะราษฎร และ นายณัฐชนน ไพโรจน์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว นายอานนท์ นำภา, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ขึ้นเครื่องบินไปส่งศาลที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากทั้งคู่โดนหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งร่วมชุมนุมแฟลชม็อบที่บริเวณประตูท่าแพ ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

 

 

 

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จากการเข้าจับกุมผู้ร่วมชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 15 ต.ค.2563 สามารถควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 22 คน โดยมี 4 คน เป็นแกนนำ ได้แก่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายอานนท์ นำพา, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ส่วนอีก 22 คน เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

รวมแล้วแกนนำม็อบที่ถูกจับกุม ระหว่างวันที่ 13-15 ต.ค. 2563 ทั้งที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และทำเนียบรัฐบาล มีจำนวน 39 คน 

เด็ดหัว จับกุมหัวโจก พันธนาการด้วยข้อหาคดีต่างๆ ย่อมทำให้ความร้อนแรงในการเคลื่อนไหว และการนำมวลชนของแกนนำม็อบ “อ่อนแรง” ลงไป 

เจอไม้แข็งด้วย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เข้าไป ใครไม่สยบ ใครไม่ยุติ ก็รังแต่จะ เจอข้อหาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ท้ายที่สุดแล้ว ผลจะเป็นเช่นไร “รุ่นพี่” ที่เป็นแกนนำม็อบมาก่อน ทั้ง “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,619 หน้า 12 วันที่ 18 - 21 ตุลาคม 2563