19 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงการณ์ปฏิบัติงานของตำรวจในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า มีการชุมนุมจำนวน 3 พื้นที่หลักในกรุงเทพมหานคร คือ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้ชุมนุมประมาณ 12,000-14,000 คน บริเวณแยกอโศก ถนนอโศกมนตรี มีผู้ชุมนุมประมาณ 2,000 คน และบริเวณแยกบางนา ถนนสุขุมวิมทขาเข้าและขาออก มีผู้ชุมนุมประมาณ 3,500 คน รวมมีผู้ชุมนุมประมาณ 20,000 คน โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลความรักษาความสงบเรียบร้อย จำนวน 12 กองร้อย
สำหรับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกับผู้ที่ฝ่าพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และความผิดอื่นๆในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตำรวจได้ควบคุมตัว นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงปทุมวัน ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ในฐานความผิดฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นได้อายัดตัวไปดำเนินคดีต่อตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจเคลียร์ชัดยังไม่สั่งปิด 5 สื่อ
เกาะติดสถานการณ์ชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 19 ตุลาคม 2563
จัดหนัก "สนธิญา" แจ้งตร.เอาผิด "ธนาธร"
นายกฯส่งสัญญาณเปิดประชุมรัฐสภา แก้ปัญหาชุมนุม ผ่าทางตันประเทศ
และได้รับมอบตัว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงปทุมวัน ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ในฐานความผิดฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยขณะนี้ตำรวจได้คุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายไปผัดฟ้องฝากขังยังศาลแขวงปทุมวันเรียบร้อยแล้ว ขณะที่มียอดสะสมผู้กระทำความผิดและถูกจับกุมตัว มีทั้งสิ้น 74 ราย มีทั้งแกนนำและผู้ชุมนุม ซึ่งทาง บช.น.ยืนยันว่า จะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดทุกราย
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า กรณีที่เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีการประการยุติการชุมนุมแล้ว มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก่อความวุ่นวายที่บริเวณแยกบางนา ขว้างปาสิ่งของ ทุบตีป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจร ทำให้ทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหาย ขณะที่ทาง สน.บางนาได้รับคำร้องทุกข์ และวันนี้จะขอศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป ขณะที่วันนี้หากมีการชุมนุม ตำรวจได้เตรียมกำลังควบคุมฝูงชนไว้จำนวน 12 กองร้อย ไว้รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อไม่ให้มีมือที่สาม ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการจัดชุมนุมที่ใด ทั้งนี้ภาพรวมการปฏิบัติหน้าที่ทาง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. จะเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์ด้วยตนเอง
ด้านพ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. ได้กล่าวถึงข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ที่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและสร้างความสับสนเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกอร.ฉ. ได้ตรวจพบ เช่น มีเพจเฟซบุ๊กบางเพจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้หมดแล้ว ได้มีการไลฟ์สดเหตุการณ์ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยเพจดังกล่าวได้มีการไลฟ์สดซ้ำในช่วงค่ำของวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เวลา 20.18 น. และวันที่ 18 ตุลาคม 2563 เวลา 19.29 น. ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมในลักษณะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเผชิญหน้าและมีการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 17 และ 18 ตุลาคม ทั้งที่ข้อเท็จจริงเวลาที่เพจดังกล่าวได้ทำการไลฟ์สดไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะที่เพจได้ไลฟ์สดแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่นำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิมเตอร์ที่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความสงบเรียบร้อย
ทั้งนี้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนั้นยังเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทางกอร.ฉ.จะพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวต่อไป และขอฝากประชาชนในการรับข้อมูลข่าวสารอยากให้รับข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ของทางราชการหรือสำนักข่าวหลักที่มีการตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลอย่างถูกต้องถี่ถ้วนแล้ว