การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยการเปิด อภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบันให้ทุเลาลง
การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี ที่เห็นว่าปัจจุบันมีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของส.ส. และส.ว. ในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ
1.การนัดชุมนุมกันในทางการเมืองตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในลักษณะแออัดประชิดตัวอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับมีฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากจนเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด สถานการณ์เช่นนี้ทําให้ฝ่ายสาธารณสุขเกรงว่าอาจเกิดโรคระบาดได้ง่าย อาจกระทบต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคและความเชื่อมั่นของผู้จะเดินทาง เข้ามาในประเทศได้
2.การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมบางส่วนขวางขบวนเสด็จ มีผู้ตะโกนด้วยถ้อยคําหยาบคายรุนแรง แสดงอาการไม่สมควร รัฐบาลจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3. การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสาร กระทบต่อความสงบเรียบร้อย การคมนาคม และเศรษฐกิจ แม้การชุมนุมบางครั้งและบางแห่งจะเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อย แต่บางแห่งยังคง มีการจาบจ้วงบุคคลอื่น มีการทําลายพระบรมฉายาลักษณ์ และการก่อความชุลมุนวุ่นวาย ทั้งน่าวิตกว่าอาจมีบางฝ่ายแฝงตัวเข้ามาฉวยโอกาสใช้อาวุธหรือก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และอาจมีฝ่ายอื่น ที่เห็นต่างกันหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุมออกมาจัดการชุมนุมเพื่อตอบโต้หรือต่อต้าน จนเกิดการปะทะกันอันจะเป็นการจลาจลในบ้านเมือง
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออก “แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี” ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 โดยระบุหัวข้อว่า “ถอยคนละก้าว เข้าสภา ใช้สติและปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน”จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2563 รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายมีความร้ายแรง ในท้องที่กรุงเทพมหานคร
ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า การประชุมร่วมรัฐสภาพรรคร่วมรัฐบาลมีความพร้อม และได้เตรียมบุคคลที่จะร่วมชี้แจง ไว้แล้วบางส่วน พร้อมยืนยันว่าจะไม่เปิดให้ประชุมลับหากมีการอภิปราย พาดพิงสถาบัน ระหว่างการประชุมฯ และไม่มีการประท้วง เพราะสมาชิกรัฐสภา แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ ไม่คิดทำผิดกฎหมาย หากฝ่ายค้านจะพูดอะไรก็เชิญ ก็ต้องรับผิดชอบไป จะมาอ้างเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ได้
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธานส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะเน้นอภิปรายอย่างสร้างสรรค์แบบมีวุฒิภาวะ ด้วยเนื้อหาสาระที่จะช่วยกันร่วมมือแสวงหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ตามจุดยืนของพรรค 3 ประการคือ
1.ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเทิดทูนสถาบัน ชาติศาสนา พระมหากษัตริย์
2.การแก้ปัญหาควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
3. ใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกของประเทศ
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย อีกหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล แสดงยืนยันจุดยืนของพรรคในการอภิปราย 4 ข้อ คือ 1.ปกป้องเทิดทูนสถาบัน 2.แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 2560 โดยทันทีให้ประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3.แก้ปัญหาปากท้องประชาชน และ 4.หยุดความรุนแรงและหยุดทำผิดกฎหมาย
ส่วนท่าทีจากพรรคฝ่ายค้านโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ระบุว่า ประเด็นที่รัฐบาลตั้งมารับฟังความเห็นในการประชมสภา ต้องบอกว่า “ไม่มีหวัง” ที่สำคัญ การที่กำหนดเวลาอภิปราย 23 ชั่วโมง แบ่งเป็น ครม. 5 ชั่วโมง ส.ส.รัฐบาล 5 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายค้าน 5 ชั่วโมง และ ส.ว. 5 ชั่วโมง พูดง่ายๆ คือให้เวลาฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 15 ชั่วโมง
ด้านายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการอภิปรายในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญว่า ทางพรรคเพื่อไทยได้เตรียมบุคคลในการอภิปรายไว้ 20 คน โดย ส.ส.จะยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเป็นหลัก โดยได้กำชับ ส.ส.ให้ระมัดระวังในการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบัน โดยพรรคเพื่อไทยจะมีการเสนอทางออกของปัญหาด้วย
โดยพรรคเพื่อไทยจะหยิบยกประเด็นความบกพร่องของรัฐบาลในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นประชาคมโลกและเศรษฐกิจไทย เพื่อตอกย้ำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้