“นายกฯ”ขอเลือดรักชาติ-ปัญญาเสนอทางออกประเทศ

26 ต.ค. 2563 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2563 | 12:12 น.

รัฐสภาถกปัญหาการเมือง "นายกฯ"ขอเลือดรักชาติ-ปัญญาเสนอทางออกประเทศ "ชวน"อฝ่ายนิติบัญญัติช่วยคลี่คลายปัญหา อย่าซ้ำเติม

 

วันนี้( 26 ต.ค.63) มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไป เสนอความเห็นต่อรัฐบาล ถึงการแก้ปัญหาการเมือง ตามที่ครม.เสนอ


เมื่อเวลา 09.40 น. การประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ได้เริ่มขั้น โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ก่อนการอภิปราย ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อน ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 


นายชวน กล่าวต่อที่ประชุมว่า การประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เกิดขึ้นจากการหารือภายในต่อความกังวลในสถานการณ์ของบ้านเมือง ดังนั้นฝ่ายนิติบัญญัติควรเป็นฝ่ายสนับสนุนการแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนคลายกังวล และสมควรทำแม้การประชุมสภาฯ สมัยสามัญ จะเกิดขึ้นวันที่ 1 พฤศจิกายน แม้การหารือดังกล่าวจะไม่มีฝ่ายวุฒิสภา และเสียงไม่เอกฉันท์ แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยจึงเสนอเรื่องไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาไม่ใช่เพิ่มหรือสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลหรือเพิ่มความกังวลของประชาชน
 

ทั้งนี้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงเวลาการอภิปรายตอนหนึ่งว่า ในวันที่ 26 ตุลาคม จะใช้เวลาอภิปรายประมาณ 12 ชั่วโมง และเลิกประชุมเวลา  22.30 น. ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้การประชุมวันที่ 27 ตุลาคม สมาชิกต้องลงชื่อเข้าประชุมช่วงเช้า ดังนั้นจะพิจารณาสถานการณ์อีกครั้ง หากมีการอภิปรายที่ต่อเนื่อง อาจให้เวลาเกินเวลาเที่ยงคืน เพื่อให้การประชุมวันที่ 27 ตุลาคมสามารถเริ่มได้โดยไม่ต้องลงชื่อ 

 

นายชวน ย้ำต่อที่ประชุมถึงการอภิปรายตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาอย่างเคร่งครัด   ต้องอยู่ในประเด็นที่ปรึกษาไม่ฟุ่มเฟือย ซ้ำซาก หรือซ้ำกับบุคคลอื่น เพื่อเป้าหมายเพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนให้ลดลง


 

จากนั้นเวลา 09.55 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้อภิปรายโดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ต่อการควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง และการระบาดของไวรัสโควิด-19 


"ผมมั่นใจคนไทยรักชาติ รักความเป็นรากเหง้าความเป็นไทย ที่หยั่งรากลึกถึงหัวใจคนไทย ทั้งนี้ผมทราบถึงความต้องการอนาคตที่ดีเพื่อลูกหลาน เป็นสิ่งที่ทำร่วมกันได้ แต่ต้องมีหลักการและเหตุผล รวมถึงถูกต้องตามกฎหมาย ผมทราบว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง แต่คนไทยหลายสิบล้านคน ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง วุ่นวาย สับสน เพราะทุกคนมีความเชื่อของตนเอง ดังนั้นต้องสมดุลความต้องการของคนแต่ละกลุ่มอย่างสร้างสรรค์" นายกฯ เสนอญัตติ