คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวีระกร คำประกอบ เป็นประธาน ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว และรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ผลการศึกษามีบทสรุปที่น่าสนใจดังนี้
เมื่อรัฐบาลไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำ หรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้าหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาควิชาการ และภาคประชาชน
สืบเนื่องจากความเห็นของแต่ละฝ่ายที่ไม่ตรงกัน ความไม่เข้าใจ ความคลุมเครือของข้อมูลทำให้เกิดข้อกังวลในผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังผลให้เกิดความขัดแย้งและต่อต้านอย่างรุนแรงขึ้นในสังคม เกิดข้อกังวลในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้าและบริการจากประเทศสมาชิก และต้องยอมรับพันธกรณีที่อาจมีผลกระทบในวงกว้างในประเด็นต่างๆ เช่น
การเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร การรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV การขึ้นทะเบียนและคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ใหม่ การรับฝากจุลชีพ การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing : CL) การเปิดตลาดบริการและการลงทุน การคุ้มครองด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น การใช้กลไก ระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการซื้อขายสินค้าและบริการเชิงพาณิชย์และการให้สิทธิแรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพ เป็นต้น
ดังนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ศึกษาผลกระทบ จากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพื่อศึกษาประโยชน์และผลกระทบที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP และรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านผ่านกลไกรัฐสภา เพื่อรวบรวมเป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลต่อไป
คณะกรรมาธิการดำเนินการพิจารณาศึกษาจากโอกาสและผลกระทบ ด้านการเกษตร ด้านการสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน จากข้อมูล ข้อเท็จจริง เอกสาร หลักฐาน รายงานการศึกษาวิจัย ตลอดจนคำชี้แจงและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุมใน 3 ประเด็นหลักที่ได้รับผลกระทบและมีความขัดแย้งและเป็นข้อกังวลอย่างรุนแรงในสังคม ประกอบด้วย
1.ผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช
2.ผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข
3.ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
โดยในภาพรวมคณะกรรมาธิการเห็นว่า
1.ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2.รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ
3.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง
4.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกตในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
1. ประเด็นผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV
ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้า เป็นภาคีอนุสัญญา UPOV การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก โดยการสนับสนุนเชิงนโยบาย และเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช เพื่อเผยแพร่แก่เกษตรกร และเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดว่า จะมีการจัดสรรงบประมาณและอัตรากำลังบุคลากร เพื่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและเพื่อการขยายพันธุ์พืช เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบบเกษตรกรรมไทย เช่น ปีงบประมาณ 2564 แผนงานบูรณาการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรได้รับงบประมาณมากกว่า 1,447 ล้านบาท ตามที่ได้กำหนดไว้ แต่ในทางปฏิบัติการจัดสรรงบประมาณในแผนงานดังกล่าวตํ่ากว่าที่กำหนดไว้ทุกปี
การจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีมาตรฐานสูงอื่นใด ประเทศไทยควรมีความพร้อมที่จะเป็นประเทศผู้ขายพันธุ์พืชให้แก่ประเทศภาคีสมาชิก ตลอดจนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP