วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุม MSC HALL โรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซา กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) เป็นประธานลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนจากจังหวัดสู่อำเภอและตำบล พ.ศ.2563-2565 ตามนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย
โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.) 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี เชียงราย ยโสธร ระยอง สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมลงนาม โดยเมื่อปีที่ 2562 ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว 10 จังหวัด
นายนิพนธ์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์การลดเจ็บลดตายบนถนนของประเทศไทยจากระบบข้อมูลสามฐาน จะลดจาก 21,745 ราย ตั้งแต่ปี 2559 จนลดลงเหลือ 19,904 ราย ในปี 2562 และมีแนวโน้มการลดการเสียชีวิตจากผลของมาตรการต้านโควิด 19 ในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 16,000 ราย
แต่หากมองในระยะยาวตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ความสูญเสียจากการใช้รถใช้ถนนกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว และคุกคามโครงสร้างประชากร คนวัยเรียนวัยทำงานหายไปปีละเป็น 10,000 ราย และพิการถาวรมากกว่า 5,000 ราย ต่อปี ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะลดตัวเลขผู้ประสบอุบัติเหตุ และไม่ให้ไปแย่งเตียงกับผู้ป่วยปกติ
รมช.มหาดไทย กล่าวว่า แนวทางการป้องกันโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุบนถนนลดลง จึงเป็นแนวทางสำคัญนำมาปรับใช้กับการลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้ความเข้มแข็งในระดับชุมชน ร่วมกับจุดแข็งด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นใน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.ลดการเจ็บตายจากการขับขี่เน้นการสวมหมวกนิรภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้คำนึงว่าต้องสวมหมวกนิรภัยเหมือนสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน
2.พัฒนาศูนย์เด็กทุกแห่งเพื่อบ่มเพาะวินัยความปลอดภัยบนถนน ตั้งแต่เด็กเล็กโดยความห่วงใยและความร่วมมือร่วมใจของครู ผู้ปกครองและผู้บริหาร อปท. เพื่อส่งต่อให้สถานศึกษาขั้นต่อไป
3.แก้ปัญหาถนนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถนนของท้องถิ่นที่มีพื้นผิวถนนยาวถึง 600,000 กิโลเมตร มากกว่าทางหลวงและทางหลวงชนบทถึง 5 เท่า รวมทั้งให้เห็นความสำคัญแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ทั้งมีจุดตัดรถไฟที่เป็นจุดลักผ่านอีกมากมาย
4.การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยพลังของคนในท้องถิ่นท้องที่ ทั้งการตั้งด่าน การเอาจริงกับกติกาชุมชน หากความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้นทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตลดได้ปีละ ร้อยละ 5-10 ในระยะเวลา 10 ปี จะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่มีปฏิญญาไว้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่เกิน 12 คน จากประชากร 100,000 คน ซึ่งปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 31 คน จากประชากร 100,000 คน