11 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ว่า ประเด็นที่หนึ่ง แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ. 2564 โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัย และความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ
คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากวงเงินงบประมาณรายจ่าย ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีจำนวน 3,285,962.5 ล้านบาท เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการการจัดเก็บในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 277,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับการดำเนิน มาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการชะลอการดำเนินมาตรการภาษี บางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท
จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลายดำเนินการ
1) บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้อง กับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน ให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์ และรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีความจำเป็น เร่งด่วน สามารถชะลอการดำเนินการออกไปได้ ขอให้ชะลอไปก่อน นอกจากนั้น ควรประเมินผลสำเร็จ ของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด หากแผนงาน/ โครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก เพื่อนำงบประมาณไป ดำเนินการในแผนงาน/โครงการอื่นต่อไป
2) ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน
3) ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำรวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4) จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ ต้องพิจารณานำเงินดังกล่าว เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงาน เป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภายใต้ข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ.2565ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประกอบด้วย
1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) โดยส่งเสริมการจ้างงาน ทั้งการจ้างงานใหม่ในพื้นที่ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ รักษาการจ้างงานในสาขาที่ได้รับผลกระทบ และการสร้างงานที่สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจในอนาคต การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ส่งเสริมการปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ สนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน/เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และปรับโครงสร้างปัจจัยแวดล้อม การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองหลักและเมืองรอง ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ สร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค และสร้างจุดเด่นทางเศรษฐกิจของแต่ละภาค/กลุ่มจังหวัด
2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยขยายช่องทางการตลาด แพทย์แผนไทย/ปัจจุบัน ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ โดยส่งเสริมการลงทุนและรูปแบบการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเมืองรองและท้องถิ่นการยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง
โดยสร้างแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร โดยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมผู้ประกอบการ ปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ/แรงงาน และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) โดยการยกระดับ ปรับทักษะ และส่งเสริมการเรียนรู้ โดยส่งเสริมแรงงานให้ได้รับการฝึกอบรมทักษะ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแรงงาน การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม โดยช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยคนยากจน กลุ่มเปราะบาง ผลักดันแรงงานให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม พัฒนาระบบช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคม การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ โดยพัฒนาระบบปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ ภูมิคุ้มกันร่างกาย จิตใจ กระจายบริการสาธารณสุข และปฏิรูประบบ ประกันสุขภาพ
4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล โดยปรับปรุงและพัฒนาฐานข้อมูลแบบบูรณาการ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการประชาชน และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม
และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตเป้าหมาย และแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรค การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลในการบูรณาการระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ และส่งเสริมให้ครัวเรือนบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคส่วนอื่น ๆ ในการพัฒนาประเทศ ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ
สุดท้ายนี้ ขอให้หน่วยรับงบประมาณนำประเด็นสำคัญทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว มาใช้ประกอบการจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และจัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เยียวยาโควิดรอบ 2" รมว.คลัง ตอบชัด มีอะไรบ้าง