กรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ท้วงติงค่าโดยสาร รถโดยสารสาธารณะ ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
(ขสมก.) ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ตามแผนฟื้นฟู อัตรา 30 บาทตลอดสาย อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ต่างจาก ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กระทรวงคมนาคมคัดค้านว่าอัตราสูง ซึ่งสอดคล้องกับ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มอบหมายให้พิจารณาค่าโดยสารให้เหมาะสมกับทุกกลุ่มก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้า แผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 162 เส้นทางแบ่งเป็น ขสมก.108 เส้นทาง เอกชน 54 เส้นทาง เพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรองรับการขยายตัวของเมืองและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นตามความจำเป็น ในอนาคต ขณะเดียวกันที่ประชุม คจร. ให้เพิ่มเติมข้อความจากเดิมที่ระบุเพียงราคาค่าโดยสารเป็นราคาค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน ทั้งนี้ได้มอบให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณากำหนดราคาค่าโดยสาร ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม
“ส่วนกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความกังวลผู้มีรายได้น้อยที่เคยเสียค่าโดยสารในราคาถูกจะต้องเสียค่าโดยสารถึง 30 บาทต่อคนต่อวัน เรามองว่าเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคมให้การดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เป็นผู้พิจารณาค่าโดยสาร เบื้องต้นได้กำหนดราคาค่าโดยสารตั๋วเที่ยวเดียวราคา 15 บาท ซึ่งคิดราคาบนพื้นฐาน อัตราค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศตามระยะทาง ในปัจจุบันประกาศใช้ปี พ.ศ.2561 สำหรับรถปรับอากาศ(ใหม่) ราคาค่าโดยสารขั้นตํ่าสุด อยู่ที่ ราคา 15 บาท ต่อระยะทาง 0-4 กิโลเมตร (กม.)”
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ล่าสุดทางสภาพัฒน์ให้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนฟื้นฟูขสมก.ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนที่ส่งต่อที่สภาพัฒน์พิจารณาต่อไป ปัจจุบันทางกระทรวงเตรียมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์หน้าเพื่อเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมครม.เห็นชอบที่ผ่านมาได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ประสานกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบเพื่อชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนลงทุนฟื้นฟูขสมก.ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งคำถามไว้
สำหรับแนวทางแผนฟื้นฟู ขสมก.ประกอบด้วย
1. การจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดยขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน
2. ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการ รถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bid ding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาตํ่าสุด (ตํ่ากว่าราคากลาง) เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก. ซึ่งในการประชุมผู้ประกอบการรถเอกชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ไม่มีผู้ประกอบการรถเอกชนรายใด เสนออัตราค่าจ้างวิ่ง ในราคา 30 บาทต่อกิโลเมตร ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ
3. รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานตํ่า EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม ที่มีการติดตั้งระบบGPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน
4.เส้นทางการเดินรถ ขสมก.ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 108 เส้นทาง ในการเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของขสมก. และรถโดยสารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดเก็บค่าโดยสารในระบบเดียวกัน และเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต และกลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมากและไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้
5.การบริหารหนี้สิน โดยขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ในปีงบ ประมาณ 2565-2571 ทั้งนี้รัฐจะต้องเป็นผู้รับภาระหนี้สินทั้งหมด ซึ่งทำให้ผลประกอบการของ ขสมก. จะกลับมาเป็นบวก (EBIDA) ในปี 2572
6.การลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ซึ่งจะดำเนินการในปี 2565
ที่มา : หน้า 7 ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง