ด่วน ศาลพิพากษาคดีกปปส.จำคุก "สุเทพ-พุทธิพงษ์-ณัฏฐพล-ถาวร" 

24 ก.พ. 2564 | 10:48 น.

ศาลอาญาพิพากษาคดีกปปส.จำคุก "สุเทพ-พุทธิพงษ์-ณัฏฐพล-ถาวร"

24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวก เดินทางมายังตามที่ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ กับพวกรวม 39 คน ฐานร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่น ๆ กรณีชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป บุกยึดสถานที่ราชการ ปิดกรุงเทพมหานคร (Shutdown Bangkok) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด

ขณะที่บรรยากาศในวันนี้ กลุ่มจำเลย ทยอยเดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีประชาชนมารอมอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ และมีกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล และ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบ โดยเพจในเฟซบุ๊ค”สื่อศาล”ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลข่าวสารของศาลยุติธรรมไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคม ระบุ ในวันนี้ จะไม่มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาแต่อย่าง

โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลัง แบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง

รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปเพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. จากนั้น กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง

เช่น ทำเนียบรัฐบาล สตช. บช.น. สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่งเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค.-2 มี.ค.57 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานคร (Bangkok Shutdown) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

โดยการกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152

ทั้งนี้มีรายงานว่า ศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี,

นายชุมพล จำเลยที่ 3 จำคุก 9 ปี 24 เดือน,

นายพุทธิพงษ์ จำเลยที่ 4 จำคุก 7 ปี,

นายอิสสระ จำเลยที่ 5 จำคุก 7 ปี 16 เดือน,

นายวิทยา จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท,

นายถาวร จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี,

นายณัฏฐพล จำเลยที่ 8 จำคุก 6 ปี 16 เดือน,

นายเอกนัฏ จำเลยที่ 9 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท

และ นายสุวิทย์ จำเลยที่ 16 จำคุก 4 ปี 8 เดือน เป็นต้น

สำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรี และส.ส.ที่ถูกระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ หากเป็น ส.ส. ถูกคำพิพากษาจำคุก ไม่ได้ประกัน ถูกหมายขังเข้าเรือนจำจะพ้นจาก ส.ส. ตาม รธน.ม.98(6) แต่หากเป็นรัฐมนตรีไม่ว่าพิพากษาจะถูกจำคุก หรือรอลงอาญา หรือคดีถึงที่สุดหรือไม่ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตาม รธน.160 (7) และ 170 (4)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง