ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24-25 ก.พ. 2564 ได้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... วาระที่ 2 หลังจากนี้จะต้องทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนที่จะลงมติ วาระ 3 คาดว่าจะมีขึ้นในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค.นี้
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธ ศักราช ...”
มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๕๖, ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ใช้เสียง 3 ใน 5 แก้รธน.
“มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทําได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภา พิจารณาเป็นสามวาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนน โดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่าสามในห้าของจํานวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภา พิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสามในห้าของจํานวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(๗) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (๒) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ หมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (๒) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (๗) ต่อไป
(๙) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (๗) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกัน เสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญ ตาม (๓) ขัดต่อมาตรา ๒๕๕ หรือมีลักษณะตาม (๔) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑๕/๑ การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๒๕๖/๑ ถึงมาตรา ๒๕๖/๑๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“หมวด ๑๕/๑
การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่
มาตรา ๒๕๖/๑ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทําหน้าที่จัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
มาตรา ๒๕๖/๒ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๕๖/๑
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ตํ่ากว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษา ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา หรือเคยรับราชการหรือปฏิบัติ หน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลา ติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
มาตรา ๒๕๖/๓ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๕๖/๑
(๑) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๔๔ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๔) (๔) (๑๐) (ดด) (๑๒) (๓) (๑๕) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘)
(๒) เป็นข้าราชการการเมือง
(๓) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี
ส.ส.ร.1 คนต่อ 1 เขต
มาตรา ๒๕๖/๔ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้ วิธีการออกเสียงโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตการเลือกตั้งมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เขตละหนึ่งคน การกําหนดจํานวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตให้ดําเนินการ ตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ใช้จํานวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปี ที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจํานวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสองร้อยคน จํานวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจํานวน ราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(๒) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (๑) ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
(๓) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจํานวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(๔) เมื่อได้จํานวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละจังหวัดตาม (๒) และ (๓) แล้ว ถ้าจํานวน สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ครบสองร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการ
คํานวณตาม (๓) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวิธีการดังกล่าว แก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคํานวณนั้นในลําดับรองลงมาตามลําดับจนครบจํานวนสองร้อยคน
(๕) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็น เขตเลือกตั้งเท่าจํานวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจํานวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
เลือกตั้งส.ส.ร.ใน 90 วัน
มาตรา ๒๕๖/๕ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๕๖/๑ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่มีเหตุแห่งการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้
การกําหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําโดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกําหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแนะนําตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ให้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้หนึ่งคน และจะลงคะแนน เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือจะลงคะแนนไม่เลือก ผู้ใดเลยก็ได้ ทั้งนี้ ให้นํามาตรา ๔๕ และมาตรา ๙๖ มาใช้บังคับ กับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามระเบียบ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด ทั้งนี้ในการกําหนด หลักเกณฑ์และวิธีการการเลือกตั้งสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจกําหนด ให้นําบทบัญญัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งบทกําหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลําดับ จนครบตามจํานวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทําบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีส่งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวัน นับแต่วันที่ประกาศรับ รองผลการเลือกตั้ง แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,658 หน้า 10 วันที่ 4 - 6 มีนาคม 2564