วันที่ 5 มีนาคม 2564 เพจไทยคู่ฟ้าของรัฐบาล ได้โพสต์ข้อความ เปิดขั้นตอน...ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ระบุดังนี้...
“การชุมนุมสาธารณะ” เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น ไม่ล่วงล้ำหรือละเมิดสิทธิของคนอื่น และเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
สำหรับขั้นตอนปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายมี 4 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นเตรียมการ เช่น ดำเนินการด้านการข่าว ประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้อง เตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ เจรจาต่อรองกับผู้แจ้งการชุมนุม
2. ขั้นการเผชิญเหตุ เช่น จัดตั้งจุดตรวจ ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม ดำรงการเจรจา ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
3. ขั้นการใช้กำลังคลี่คลายสถานการณ์ (กรณีศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม)
4. ขั้นฟื้นฟู (หลังการชุมนุม) เช่น จัดส่งผู้บาดเจ็บ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูสถานที่และทรัพย์สิน รวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินคดี
หลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะอยู่ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR และให้ความสำคัญกับการชุมนุมโดยสงบ มุ่งคุ้มครองทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป
เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีหลายประเภท เช่น โล่ใส กระบองยาง แก๊สน้ำตา เสื้อเกราะ เครื่องขยายเสียง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รถควบคุมฝูงชน ปืนยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา ฯลฯ
ในการปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะใช้การเจรจาต่อรองและแจ้งเตือนก่อน หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายให้หยุดการกระทำ ถ้าไม่หยุด ให้แสดงท่าทางพร้อมใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ หากยังคงฝ่าฝืนให้ใช้กำลังเพื่อกักตัวหรือจับกุมได้ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานภาพ
การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน จะใช้ตามความจำเป็น ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจะแจ้งเตือนก่อน
• การใช้กระบอง จะใช้ในกรณีผลักดันกลุ่มคนออกจากพื้นที่ แต่ต้องไม่ตีที่บริเวณอวัยวะสำคัญ ที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือทำให้พิการ
• การยิงกระสุนยาง จะยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตผู้อื่น
• การใช้น้ำฉีด จะใช้ในกรณีเข้ายุติการชุมนุม หรือระงับยับยั้งป้องกันเหตุ โดยใช้แรงดันน้ำเท่าที่จำเป็นในการสลายฝูงชน
• การใช้สารควบคุมการจลาจล เพื่อยุติการชุมนุม หรือระงับยับยั้งป้องกันเหตุ สามารถทำได้ โดยใช้ระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม
• การใช้แก๊สน้ำตา จะระมัดระวังหลีกเลี่ยงการขว้างไปโดนตัวบุคคล และระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม
ที่มา : พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคู่มือการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นอนคุก! “แอมมี่ the bottom blues” เข้าเรือนจำพิเศษธนบุรี ศาลไม่ให้ประกันตัว
“วิษณุ”คาดเปิดสภาโหวตแก้ไขรธน.วาระ 3 ระหว่าง 17-19 มี.ค.นี้