วันที่ 26 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วย โควิดว่า การทำงานของของกระทรวงสาธารณสุข กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้คือพื้นที่ กทม. ดังนั้นกระทรวงก็ต้องเข้ามาสนับสนุน โดยจะมีการตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วย (Pre Admission Center) มีอุปกรณ์การแพทย์ และบุคลากรดูแล อย่างไรก็ตาม เดิมจะตั้งที่อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก แต่ยังไม่มีความพร้อม ตอนนี้จึงย้ายไปใช้พื้นที่อาคารนิมิบุตร รองรับได้ประมาณ 300 เตียง มีพื้นที่กว้างขวาง มีระบบความปลอดภัย คาดว่าจะปรับปรุงพื้นที่แล้วเสร็จใน 3-4 วัน ทั้งนี้ศูนย์ฯ ไม่ใช่ ร.พ.สนาม แต่จะรองรับผู้ติดเชื้อตกค้างจากของ กทม. หากรอแล้วไม่มีเตียง ผู้ป่วยสามารถป้องกันตัวเอง เดินทางด้วยรถส่วนตัวเข้ามาที่ศูนย์ฯ ได้ ซึ่งจะบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุข สามารถส่งต่อไปรักษาใน รพ.ในสังกัดในปริมณฑล หรือจังหวัดอื่นได้
เมื่อถามถึงกรณี ร.พ.เรียกรับเงินจากผู้ป่วยก่อน เมื่อถามย้ำว่าตอนนี้มีรายงานว่า รพ.เอกชนให้ผู้ป่วยวางเงินค่ารักษาก่อน 2-5 แสนบาท ก่อนถึงจะได้เตียง นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ได้รับรายงาน มีเพียงคำพูด แต่ตามกฎหมาย ร.พ.ต้องรับผู้ป่วย จะปฏิเสธไม่ได้ แล้วยิ่งไปเก็บเงินก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พอกระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์แรกรับแล้วปัญหาแบบนี้น่าจะคลี่คลาย ถ้าหา รพ.ไม่ได้ให้มาที่ศูนย์ฯ ได้ เป็นการเก็บตกผู้ที่ไม่สามามารถเข้าระบบได้ ให้ได้รับการรักษาพยาบาล เป็นการแบ่งเบาภาระของ กทม. เพราะตอนนี้ที่หนักคือ กทม. แต่จังหวัดรอบนอก นั้นกระทรวงสาธารณสุขควบคุมได้แล้ว
กรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ออกมาโวยเรื่องเจ้าหน้าที่แจ้งคนติดโควิด เขตหลักสี่ ว่าเตียงเต็ม แต่เสนอให้ไปรักษาตัวที่โรงแรมย่านทองหล่อ มีค่าใช้จ่ายคืนละ 2,800 บาท นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ต้องดู เราถึงมีศูนย์แรกรับฯ
ส่วนกรณีมีหญิงสาวที่อ่างทอง เสียชีวิต แต่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรระหว่างการแพ้คอลลาเจน กับวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า เรามีระบบการตรวจสอบอยู่แล้ว มีกรรมการวิชาการติดตามเรื่องการใช้วัคซีนอยู่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน