“แรมโบ้”แจง3ปี กลาโหมหั่นงบ4.6หมื่นล้านแก้วิกฤตโควิด

19 พ.ค. 2564 | 01:59 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2564 | 09:18 น.

“แรมโบ้”แจง3ปีกลาโหมหั่นงบ4.6หมื่นล้าน แก้โควิด ยันนายกฯให้ความสำคัญกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะสาธารณสุข

วันที่ 19 พ.ค. 2564นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อ้างปีงบประมาณ 2565 กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข และยังได้การตั้งงบประมาณผูกพันซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือด้วย โดยนายเสกสกลระบุว่าเรื่องนี้ทางกระทรวงกลาโหมได้ออกมาชี้แจงแล้ว ถึงความจำเป็นที่กระทรวงต้องใช้งบประมาณในภารกิจทั้งด้านความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้านายยุทธพงศ์มีความรู้วิชาภูมิศาสตร์ของประเทศมากพอ ก็จะรู้ว่า ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดนี้ กองทัพจะต้องควบคุมชายแดนทั้งทางบก 5 พันกว่ากิโลเมตร และทางทะเลอีก 3 พันกว่ากิโลเมตร ที่จะต้องใช้คน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ในการเฝ้าตรวจ เข้าเวร ตั้งด่าน ทั้งวันทั้งคืน ดังนั้นอย่าพูดเอามัน หรือมักง่าย ไม่รับผิดชอบ ตีกินทางการเมือง

 ที่สำคัญสองปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณในภาพรวมของทุกเหล่าทัพ เหมือนกับหลายกระทรวง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยในปี 63 ปรับลดลงกว่า 18,000 ล้านบาท และในปี 64 ก็ลดลงจากปี 63 ไปอีกกว่า 17,200 ล้านบาท ซึ่งในปี 65 นี้ ก็ได้ปรับลดลงอีก 11,248.7 ล้านบาท รวมสามปีลดลงกว่า 46,000 กว่าล้านบาท  สำหรับรัฐบาลนำไปแก้วิกฤตโควิด ในเรื่องการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งจัดหาวัคซีน ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบโครงการต่างๆ

นายเสกสกล ยังชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จะเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขตั้งงบ 295,673.9 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกระทรวงสาธารณสุข 9 กรม จำนวน 153,940.5 ล้านบาท ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 140,550.2 ล้านบาท กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน 1,183.2 ล้านบาท ขณะที่งบกระทรวงกลาโหมมีจำนวน 203,282.0 ล้านบาท

นายเสกสกลยืนยันยันว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับทุกกระทรวงโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะต้องนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับกระทรวงอื่นด้วยเช่นกัน 

สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาแล้ว ทุกกระทรวงก็ต้องมีภาระเพิ่มเติม เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด ต้องดูแลพี่น้องประชาชนในส่วนที่ตนเองก็ต้องรับผิดชอบ ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน อย่างบูรณาการกัน ทั้งหมด เช่นกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแล้ว กระทรวงกลาโหมก็ยังเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงาน ทั้งการจัดตั้ง รพ.สนาม เตียงสนาม รวมถึงการระดมแพทย์ทหาร พยาบาลทหาร หน่วยเสนารักษ์ และการเปิดค่ายทหารรองรับการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดด้วย
 

ทั้งนี้ การทำงานของกระทรวงกลาโหม ก็ได้จัดตั้ง "ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19" ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ณ กรมยุทธบริการทหาร โดยมีกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติ ไปพร้อมๆ กับทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคเอกชนอีกด้วย บรรยากาศความรู้รักสามัคคีของคนในบ้านเมือง ในการกอดคอกันฝ่าวิกฤตไปกับคนทั้งโลก น่าแปลกใจว่านายยุทธพงศ์ยังมีกะจิตกะใจมาสร้างความสับสน ยุยงให้เกิดความปั่นป่วนในสังคมได้อย่างไร

ตนเองก็ขอให้นายยุทธพงศ์ อย่าไปตั้งข้อสังเกต หรือนำประเด็นต่างๆ มาโจมตีนายกฯ และรัฐบาลเลย ยืนยันนายกฯให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย และบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่วนกรณีงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น ก็ขออย่าคิดไปก่อน รอให้มีการอภิปรายงบประมาณก่อนค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์

" เป็นเพราะพฤติกรรมนายยุทธพงศ์หรือเปล่า ชอบจับผิดโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือตรวจสอบให้ชัดเจน จึงทำให้พรรคเพื่อไทยตกต่ำไปเรื่อยๆจนคุณหญิงสุดารัตน์และแกนนำหลายคนบ่นเบื่อคนในเพื่อไทยว่าเอาแต่ใจตัวเองคุยไม่รู้เรื่องสร้างปัญหาให้กับพรรคชอบทะเลาะต่อยตีกับสส.ในพรรคตลอด ตนก็คิดไม่ออกว่าจะเป็นนายยุทธพงศ์หรือใครกันแน่ที่ทำให้แกนนำต้องลาออกจากพรรคกันมากมาย" นายสุภรณ์ กล่าว