นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบนเวที ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย โดยระบุถึง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ว่า จากเดิมกู้ 7 แสนล้านย่อลงมาเหลือ 5 แสนล้าน โดยประเพณีการร่างพระราชกำหนดก็จะมีบทบัญญัติ รายละเอียด วิธีทำงานฝั่งเงินกู้
ส่วนฝั่งการใช้เงินนั้น โดยประเพณีของกระทรวงการคลัง ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองปกติ คือ การใช้เงินโดยภาครัฐจะมี องคาพยพในการถ่วงดุล กำกับดูแล ติดตามตรวจสอบกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ทั้งในชั้นของพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศรวมถึงระเบียบ หน่วยงานของราชการ
ซึ่งทั้งหมดนั้นกลายเป็นว่าพระราชกำหนด 2 ฉบับในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ พระราชกําหนด 1 ล้านล้าน และ ฉบับที่ 2 ห้าแสนล้านนั้น ไม่ได้ปฏิบัติตามประเพณีที่ผ่านมาของกระทรวงการคลัง แต่แหวกแนว ไปเติมในแง่ของวิธีการในการใช้เงิน พร้อมยกตัวอย่างมาตรา 7 ในพระราชกำหนด 1 ล้านล้านบาท ที่กำหนดไว้ว่า กระบวนการในการใช้เงินนั้นให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 1 คณะเรียกว่าคณะกรรมการกลั่นกรอง การใช้เงินกู้ คือ เลือกว่าจะเอาโครงการใดเสนอคณะรัฐมนตรี
ส่วนมาตรา 8 นั้นกำหนดให้ คณะกรรมการกลั่นกรองมีหน้าที่และอำนาจกว้างขวาง ครบวงจร การกำกับดูแลการดำเนินงาน ว่าเป็นไปตามโครงการหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนี้ อีกทั้งยังมีหน้าที่และอำนาจในการวางระเบียบ การดำเนินงาน ของแผนงานหรือโครงการนั้นจะต้องดำเนินการอย่างไรซึ่งระบุไว้ในวงเล็บ 6
ดังนั้นคณะกรรมการที่ พระราชกำหนดบัญญัติไว้นั้น กลายเป็นคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน ซึ่งไม่ใช่การกู้ และเป็นการร่างที่แตกต่างไปจากประเพณีของกระทรวงการคลัง ปัญหาคือ ในการร่างแบบนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นการร่างที่ผิดกฎหมาย หากดูพระราชกําหนดทั้ง 2 ฉบับ จะเริ่มต้นด้วยมาตรา 44 เขียนไว้ว่าการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นการกู้ยืมตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังมาตรา 53
“ การกู้เงินที่จะบัญญัติใน พระราชกำหนด ทั้ง 2 ฉบับนั้น เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง จะเห็นว่ามาตรา 53 การออกพระราชกำหนด ต้องระบุวัตถุประสงค์การกู้ยืม, ระยะเวลาการกู้ยืม, แผนงานโครงการที่จะนำไปใช้อย่างไร, วงเงินที่จะอนุญาต, หน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการคือหน่วยงานใด,”
ดังนั้น พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังตัวแม่แบบ ได้ใส่กรอบกำหนดไว้ในพระราชกำหนดทั้ง 5 อย่างครบถ้วน แต่พระราชกําหนดทั้ง 2 ฉบับแถมอย่างที่ 6 เข้าไปคือ ระเบียบวิธีการในการใช้เงิน จึงจะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ที่มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าพระราชกำหนด และเป็นตัวแม่ที่ให้ออกลูกมาเป็นพระราชกำหนดนั้น มาตรา 53 ระบุไว้ 5 อย่าง แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไประบุไว้ 6 อย่าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในความเห็นตน เป็นการระบุไว้เกินอำนาจ พร้อมย้ำว่าตนไม่ได้คัดค้านการกู้ และตระหนักดีว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อน และลักษณะของการบริหารบ้านเมืองเพื่อจะผ่าวิกฤต covid-19 ในสภาวะที่ยังมีการกลายพันธุ์ไปในอนาคต รัฐบาลจำเป็นจะต้อง มีการกู้ และมีเงินอยู่ในมือที่พอเพียง ซึ่งตรงนี้ตนไม่คัดค้าน
แต่หากว่าเราทำเกินเลยกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็จะทำให้ตัวของพระราชกำหนดนั้น เป็นพระราชกำหนดที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย คือ การใช้เงินจะหละหลวม และสามารถกลายเป็นเครืองมือในการแลกเปลี่ยน ระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ ที่จะเป็นผู้เสนอโครงการ หรืออาจจะระหว่างนายกรัฐมนตรี กับพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่จะเป็นการเเลกเปลี่ยนกับพรรคฝ่ายค้าน
ซึ่งทั้งหมดนั้นตนไม่ได้กล่าวหาว่าเกิดขึ้น แต่กำลังจะบอกว่า เมื่อกฎกติกาหละหลวม ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และกลายเป็นว่ากฎกติกาที่หละหลวมกลายเป็นการเปิดช่อง พร้อมฝากถึงหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านให้ช่วยกันตรวจสอบ และเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำข้อสังเกตของตน ไปพิจารณา