ศาลปกครองสูงสุดสั่งเบรกโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงแก่งคอย-กลางดง อโศก-บันไดม้า

31 พ.ค. 2564 | 10:22 น.

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนเบรกจัดซื้อจัดจ้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วงแก่งคอย-กลางดง และ ช่วงปางอโศก-บันไดม้า ชี้คำวินิจฉัยของ คกก.พิจารณาอุทธรณ์-ข้อร้องเรียนกรมบัญชีกลาง ที่จะคืนสิทธิให้“บีพีเอ็นพี”ส่อไม่ชอบก.ม.

วันนี้ (31 พ.ค.64) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ( ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานนคร – นครราชสีมา งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า) ที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้อง ตามมาตรา 119 วรรคสอง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

จากกรณีที่คณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ดังกล่าว อนุมัติยกเว้นหลักเกณฑ์บางประการให้กับ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่เป็นการเฉพาะราย  และบริษัท บีพีเอ็นพี สามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้เป็นผลงานในการยื่นประกวดราคาได้

โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐกรมบัญชีกลาง จะใช้อำนาจยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ จะต้องใช้โดยคำนึงถึงหลักความโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน 

การที่คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ยกเว้นหรือผ่อนผัน ให้ผู้ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาครั้งนี้เป็นการเฉพาะราย ซึ่งจะทำให้ บริษัท บีพีเอ็นพี  จำกัด ที่น่าจะไม่มีคุณสมบัติ ในเรื่องผลงานการก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาและเอกสารประกวดราคาได้รับการยกเว้น หรือผ่อนผัน ให้เป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน ย่อมเป็นการยกเว้น หรือผ่อนปรนในสาระสำคัญ อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ของผู้เสนอราคารายอื่นๆ ได้ 

 

การกระทำดังกล่าว ของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ฟังขึ้น และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคา ของผู้ยื่นเสนอให้ถูกต้อง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรค 2 พ.ร.บจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 

โดยพิจารณาว่า เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับที่ คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันคุณสมบัติให้แก่บริษัทบีพีเอ็นพีเป็นการเฉพาะราย รฟท.จึงไม่อาจ หยิบยกประเด็นคุณสมบัติ ของบริษัท บีพีเอ็นพี มาพิจารณาเพื่อตัดสิทธิ์บริษัทดังกล่าวได้  คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ โดยอาศัยเหตุผลตามหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ  ด่วนที่สุดที่ กค.(กวจ)0405.4/037996 ลงวันที่ 29 ส.ค.62 ที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยเช่นกัน 

 

ทำให้คำสั่ง คณะกรรมการวินิจฉัยฯลงวันที่ 21ต.ค.63 ย่อมน่าจะมีประเด็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง ปัจจุบันงานโยธาของโครงการนี้ มีเพียงสัญญา1-1 งานโยธาสำหรับช่วงกลางดง –ปางอโศก ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างส่งมอบงานงวดสุดท้าย  แต่ในส่วนสัญญาอื่นอีก 11 สัญญา  แต่ละสัญญามีการประกวดราคาแยกจากกัน  และแต่ละงานสามารถดำเนินการได้โดยเอกเทศ  บางสัญญาก็มีการดำเนินการไปบางส่วน บางสัญญาก็รอคู่สัญญาลงนาม  หรือจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ