สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยห้ามให้บริการโทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ และคริปโทเคอร์เรนซีตามที่กำหนด พร้อมทั้งกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดให้มีข้อกำหนดว่า ในกรณีของโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายหรือเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขาย หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลนั้นไม่ทำตาม white paper และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญ จะเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนออกจากศูนย์ซื้อขายได้ โดยระบุว่าเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ตนได้เห็นประกาศของ กลต. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากรณีห้ามศูนย์ซื้อขาย นำเหรีญ Utility Tokens พร้อมใช้ 4 ประเภท (Meme, FAN, NFT, Native coins) ขึ้นกระดานซื้อขาย ซึ่งพออ่านดูแล้วก็รู้สึกประหลาดใจว่าทำไม ก.ล.ต. ถึงมีแนวคิดปิดกั้นในเรื่องเหล่านี้ เลยได้มีการพูดคุยกับทีม Tech ในพรรคกล้า และสอบถามความเห็นของพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการ Fintech พอสรุปได้ว่าประกาศของ ก.ล.ต. มีทั้งความไม่ชัดเจนและทั้งการส่งผลต่อการปิดกั้นโอกาสของคนไทยในการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในการสร้างนวัตกรรม
“กฎที่ออกมาอย่างเร่งรีบไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและข้อห้ามที่ออกมานั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ประเทศกำลังมองหาธุรกิจ S-curve ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ภาครัฐกลับปิดกั้นการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อคเชน รวมถึงคริปโต แล้วอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศจะเป็นอย่างไร” นายกรณ์ กล่าว
อดีต รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ในมุมของ ก.ล.ต. เอง เข้าใจว่าต้องการป้องกันความเสี่ยงให้ผู้บริโภค แต่เชื่อหรือไม่ว่ากฏเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ความเสี่ยงหมดไป เพราะธุรกรรมคริปโตเป็นธุรกรรมที่ไร้พรมแดน ซ้ำร้ายกลับทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส คือ ลดโอกาสของการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆในประเทศ ลดโอกาสของคนในการพัฒนาตนเองสู่ทักษะและเครื่องมือที่สำคัญ สำหรับยุคดิจิตอล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดขีดความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต กฏข้อบังคับในครั้งนี้เป็นการผลักไสทรัพยากรคนที่มีความสามารถและนวัตกรรมออกนอกประเทศ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถดึงดูดนวัตกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศได้ ซึ่งถือเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อประเทศไทยเอง
นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชัดเจนของกฎบางข้อเช่น 1. การนิยาม Meme และ FAN tokens ยังขาดรายละเอียดตัวชี้วัดว่า เหรียญแบบไหนถือว่ามีสาระที่สมควรอนุญาตให้ซื้อขายในกระดานซื้อขายไทย 2. การกีดกัน NFT ซึ่งถือเป็น Softpower อีกหนึ่งเครื่องมือเศรษฐกิจยุคดิจิตอล โดยถือว่าเป็นของเฉพาะกลุ่ม ถือเป็นการกีดกันการค้าของอุตสาหกรรมศิลปะ บันเทิง และเกมส์ ไม่ให้เกิดการพัฒนาและรับรู้อย่างแพร่หลาย 3. ห้ามศูนย์ซื้อขาย ทำ Native coins ในระบบ Blockchain ด้วยความกลัวด้านข้อมูลภายใน (inside information) ถือเป็นการตระหนกเกินกว่าเหตุ เพราะเมื่อเทียบกับหลักปฏิบัติของตลาดหุ้นสากล ผมยังคงเห็นหุ้นของ NASDAQ, London Stock Exchange และ Singapore Stock Exchange (SGX) ซึ่งถือเป็นกระดานซื้อขายทำ self listing หุ้นตนเอง เมื่อเทียบกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน คือ Binance (BNB) ผมจึงเสนอว่าสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การห้ามให้มีหรือไม่มีการทำ self listing แต่อยู่ที่การควบคุมไม่ให้กระดานซื้อขายนำข้อมูลภายในมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตน 4. ข้อบังคับเหล่านี้ไม่มีผลย้อนหลังสำหรับเหรียญในจำนวนที่ถูกซื้อขายบนกระดานแล้วในปัจจุบัน แต่ห้ามการนำจำนวนเหรียญที่ยังไม่เข้าสู่ระบบมาทำการซื้อขายเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องยากในการกำกับและติดตาม Exchange อื่นๆจะไม่สามารถทำ self listing เหรียญของตัวเองที่ใช้ในระบบ blockchain ได้อีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน เป็นต้น
นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า หลักคิดของระบบราชการไทยไม่ควรเป็นเพียงแค่การกำกับควบคุม แต่ต้องเป็นการส่งเสริมและพัฒนา ผมจึงไม่เห็นด้วยกับ ก.ล.ต. ที่ออกกฏในลักษณะปิดกั้น แต่ควรส่งเสริมและมีบทบาทในการตรวจสอบ มีกติกาชัดเจน เช่น การกำหนดความละเอียดและความสมบูรณ์ของ Whitepaper โดยยังมีพื้นที่ให้กลไกตลาดทำงานได้ โดยไม่เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบ
นอกจากความคิดเห็นของนายกรณ์แล้ว ทีม Tech ในพรรคกล้า อย่าง ส้ม ภรณี วัฒนโชติ ส้ม ภรณี วัฒนโชติ - CEO FinGas , นักลงทุนคลิปโต ตั้งแต่ปี 2016 และรองโฆษกพรรคกล้า ก็บอกว่าไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก คือ 1. ทีมนักพัฒนาเหรียญคนไทย จะหนีไป ICO และซื้อขายเหรียญในต่างประเทศ ประเทศไทยสูญเสียนวัตกรรม และการได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรม 2. เป็นการกีดกันและลดความสามารถในการแข่งขันของศูนย์ซื้อขายสัญชาติไทย ให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะ ศูนย์ซื้อขายสัญชาติไทยจะ ‘เป็นศูนย์ ที่ไม่เป็น ศูนย์’ คือไม่สามารถเป็นศูนย์รวมของเหรียญที่หลากหลายให้คนได้ซื้อขายอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการชนะคู่แข่งในตลาดโลก และ 3.เมื่อผู้พัฒนาไม่สามารถขึ้นกระดานซื้อขายที่ถูกกฏหมายได้ สุดท้ายจะเข้าซื้อขายในตลาด Defi ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถในการกำกับของรัฐ และก.ล.ต.จะไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงให้ผู้บริโภคคนไทยได้อยู่ดี เพราะจะไม่สามารถติดตามเหรียญจาการ scam คืนได้จากกระดานซื้อขายนอกการกำกับ เช่น กรณี FBI ตามเหรียญคืนได้จาก Coinbase กระดานซื้อขายภายใต้การกำกับ เป็นต้น การออกกติกาของ ก.ล.ต.ในครั้งนี้จึงมี ผลร้าย กับประเทศมากกว่า ผลดี
ขณะที่ ยศ เลิศภิญโญภาพ - IT Solution Architect และกรรมการนโยบายพรรคกล้า กล่าวว่า NFT คือโอกาสและช่องทางสำหรับการโปรโมตผลงานหรือสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนจำนวนมาก ทัศนคติในการกีดกัน NFT จะไม่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกมา เทคโนโลยีที่หมุนไปเร็ว กลไกตลาด Crypto currency มันทำงานเร็วขึ้น ดังนั้นภาครัฐยุคใหม่ควรมีบทบาทในการส่งเสริมหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสม มากกว่าการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆของคนไทย
เช่นเดียวกับ คณิต ศาตะมาน นักเทคโนโลยี ผู้อยู่ในวงการ Blockchain และ Digital Asset ที่มองว่า ตั้งแต่ยุค ICO จนถึงปัจจุบัน Crypto Currency และ Digital Tokens นั้นทำให้เกิดระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ๆ ที่สามารถสร้างโอกาสให้กับคนไทยได้หากสามารถสร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์จนคนเห็นคุณค่า แน่นอนว่าการเก็งกำไรย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย แต่รัฐก็ไม่ควรจะใช้วิธีขังทุกคนเอาไว้ในห้องด้วยเชื่อว่าพวกเขาจะปลอดภัยหากไม่ได้ออกไปไหน ดังนั้นจึงไม่ควรจะไปตั้งกำแพงกีดกัน Utility Token เหล่านั้นจาก Exchange และที่จริงแล้วควรจะสนับสนุนให้ทำธุรกรรมผ่าน Exchange ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขามีกระบวนการยืนยันตัวตนที่ชัดเจนสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดการหลอกลวงได้เป็นอย่างดี แตกต่างกับการสร้าง Market Place และ DeFi ที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมใด ๆ ได้เลย ก.ล.ต.ประเด็นควบคุมคริปโต ชี้ราชการมีหน้าที่ส่งเสริม และกำกับดูแลอย่างเหมาะสม