เด็ด ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง ’ สะเทือนพรรคเพื่อไทย ขาดขุนพลด้านเศรษฐกิจ

02 ก.ค. 2564 | 06:28 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 13:36 น.

หาก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ถูกศาลสั่งจำคุก เหมือนกรณี บุญทรง พรรคเพื่อไทยจะขาดขุนพลด้านเศรษฐกิจคนสำคัญ สนามเลือกตั้งสมัยหน้า เห็นทีพรรคเพื่อไทยต้องปรับกลยุทธ์ไม่น้อย

หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร) กับพวก ผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยละเว้น ไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) คัดเลือก บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซียโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร) กับพวก ผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยละเว้น ไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) คัดเลือก บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซียโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ขั้นตอนหลังจากนี้ ทาง ป.ป.ช. จะส่งสำนวนไปยัง อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป 

 

ต้องบอกว่ามติ ป.ป.ช.ครั้งนี้ไม่เกินความคาดหมายของสังคม ถึงขั้นมีการเปรียบเทียบ กรณีของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ใกล้เคียงกับกรณี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ที่โดนศาลสั่งจำคุกยาวนานถึง 48 ปี คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจีอันโด่งดัง

 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์จะเดินตามรอย บุญทรง หรือไม่ น่าติดตามยิ่งนัก... 

 

สายตรงตระกูล“ชินวัตร” 

สำหรับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ชื่อว่าเป็น “สายตรง” ของ นายทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิงอ้อ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ รวมทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับ “ตระกูลชินวัตร” ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

ไม่แปลกที่เขาจะถูกวางตัวให้ลงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ตั้งแต่เริ่มของการฟอร์มรัฐบาล ในปี 2544 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปี 2555  

 

หลังรัฐบาลบริหารประเทศมาได้ระยะหนึ่ง ขณะที่นายกิตติรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักจากการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวปีแรก รัฐบาลถูกมองว่าพยายามเสกตัวเลขขาดทุนจำนำข้าวตํ่ากว่าเป็นจริง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมายืนยันว่า ขาดทุนไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท แต่ไม่นำตัวเลขขาดทุนแท้จริงมาหักล้าง

 

นอกจากนั้น กิตติรัตน์ ได้อ้างข้อมูลตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่แถลงต่อสื่อมวลชนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จนถูกเรียกว่าเป็น “โกหกสีขาว” ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย จนนำไปสู่ประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา 

 

ช่วงนั้น เก้าอี้ขุนคลังของกิตติรัตน์ เริ่มสั่นคลอนไปพร้อมๆ กับพิษโครงการรับจำนำข้าวปีแรก โดยมีกระแสข่าวจะถูกปรับออกจาก ครม. บ่อยครั้ง เนื่องจากถูกมองว่า การบริหารงานด้านเศรษฐกิจไม่เป็นรูปร่าง ไม่สามารถผลักดันนโยบายออกมาได้เป็นเนื้อเป็นหนัง แต่รอดจาก “โผปรับครม.” ทุกครั้ง ก็เพราะได้รับความไว้วางใจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อไทย

นอกจาก กิตติรัตน์ จะได้ความไว้วางใจนั่งเก้าอี้ใหญ่และบทบาทสูงด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลแล้ว ยิ่งลักษณ์ ยังดัน กิตติรัตน์ ให้นั่งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2555

 

แม้สิ้นสุด “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ด้วยบารมี “นายใหญ่” และ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ยังผลักดันให้กิตติรัตน์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็น รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางแรงสั่นสะเทือนในพรรคเพื่อไทย แกนนำหลายคนเริ่มทยอยโบกมือลาพรรคเพื่อไทย หลัง 2 พี่น้องชินวัตร ต้องหลบหนีคดีไปพำนักต่างประเทศ

 

วันที่ 25 กันยายน 2563 กิตติรัตน์ ลาออกจากกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ตามคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่ลาออกไปก่อนหน้าแล้ว โดยโพสต์เฟซบุ๊กว่า“ท่านทำงานทุ่มเทเพื่อประชาชน เป็นแบบอย่างที่ยืนยันว่าคนของพรรคเพื่อไทยไม่ยึดติดกับตำแหน่ง อยู่ในหน้าที่ใดก็ทุ่มเทเพื่อประชาชนได้  ผมในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์คนหนึ่ง ก็พร้อมพ้นหน้าที่พร้อมท่านประธานฯเช่นกัน”

 

ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย  กิตติรัตน์ ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ยังนั่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง และ ประเสริฐจันทรรวงทอง เป็นแม่บ้านพรรค

 

เด็ด ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง ’ สะเทือนพรรคเพื่อไทย ขาดขุนพลด้านเศรษฐกิจ

 

11 ธันวาคม 2563 กิตติรัตน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kittiratt Na Ranong ระบุว่า“ผม เพื่อไทย ทั้งกายใจ ครับ”

 

ล่าสุด ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน ที่ผ่านมา กิตติรัตน์ นั่งหัวโต๊ะนำทีมเศรษฐกิจพรรค ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณภายใต้ข้อกล่าวหา “รัฐบาลประยุทธ์” ในภาวะวิกฤติ มีความบิดเบี้ยว เอื้อผลประโยชน์กับพวกพ้อง

 

เส้นทางการเมือง“กิตติรัตน์”

กิตติรัตน์ ณ ระนอง เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2501 การศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นน้องชายของ กิตติพงษ์ ณ ระนองอดีตเอกอัครราชทูต

 

เคยเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังพ้นตำแหน่งได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2549-2555

 

เป็น รองผอ.สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยหลายชุด 

 

เข้าสู่เวทีการเมืองครั้งแรกกับพรรคเพื่อไทย ปี 2554 ในเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อในเดือนมกราคม 2555 นั่งเป็นขุนคลัง

 

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม                

 

ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 11 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทย มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

คดีนี้ หาก กิตติรัตน์ ถูกศาลสั่งจำคุก เช่นเดียวกับกรณี บุญทรงพรรคเพื่อไทยจะขาด “ขุนพลด้านเศรษฐกิจ” คนสำคัญ เดือดร้อน

 

“เจ้าของพรรคเพื่อไทย” ต้องหา “มือเศรษฐกิจ” คนใหม่เข้าทดแทน

 

สนามเลือกตั้งสมัยหน้า พรรคเพื่อไทย อาจต้องปรับกลยุทธ์ไม่ใช่น้อย... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,693 หน้า 12 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2564