จากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก ในคดีความไม่ชอบมาพากลในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ให้กับองค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (BULOG / บูล็อค) จำนวน 3 แสนตัน หรือคดีข้าวบูล็อค โดยสำนักข่าวอิศราระบุได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกในคดีดังกล่าวแล้ว โดยระบุเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า(อคส.) อีกประมาณ 10 ราย ถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายอื่น
โดยกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 7 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 2 ราย ได้แก่ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง
สำหรับคดีคดีดังกล่าวมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้กับบูล็อค ตามสัญญาการซื้อขายข้าวแบบจีทูจี จำนวน 3 แสนตัน เมื่อเดือน ธันวาคม 2554โดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งที่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในลักษณะนอมินีของ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ถูกศาลล้มละลายพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ล.18747/2552 รวมทั้งเคยเป็นคู่สัญญาการค้าขายข้าวกับรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2544/2545 และปี 2546/2547 จำนวน 1.9 ล้านตัน และไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ตามสัญญา ผลประโยชน์ที่รัฐควรได้จึงตกไปเป็นของบริษัท สยามอินดิก้า กับพวกพ้องที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า หลังจากมีการประมูลการปรับปรุงข้าวส่งมอบบูล็อค โดยบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะนั้น มีเอกชนร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ว่าอาจมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์(โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น)อ้างว่า สาเหตุที่เลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เนื่องจากทางอินโดนีเซียต้องการให้บริษัทนี้(สยามอินดิก้า)เป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าวในสต๊อกรัฐบาลเพื่อส่งมอบ เลยไม่มีการดำเนินการแก้ไข ขณะที่นายกิตติรัตน์ อ้างว่าได้มอบอำนาจให้นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นเป็นผู้กำกับดู แต่จากพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า นายกิตติรัตน์ คือผู้ดำเนินการ ดังนั้นนายกิตติรัตน์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จึงเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังกันเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติอีกจำนวนหนึ่งไว้เป็นพยานในคดีนี้ด้วย
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ทางผู้ซื้อจะเป็นผู้เลือกหรือกำหนดให้บริษัทเอกชนรายใดของไทยเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว เพราะถือเป็นเรื่องของทางฝั่งไทย ซึ่งในครั้งนั้นเมื่อปี 2554 นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) หรือ ACT และวงการค้าข้าวได้เข้าพบนายกิตติรัตน์เพื่อทักท้วงเรื่องดังกล่าว
“ในการเข้าพบเพื่อขอความชัดเจนครั้งนั้น ทุกฝ่ายอยากรู้ว่าทำไมอยู่ดี ๆ ไปยกให้สยามอินดิก้าเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อส่งมอบแทนที่จะเปิดประมูลทั่วไป ในครั้งนั้นนายกิตติรัตน์พูดว่า คุณรู้มั้ยว่าทำไมให้สยามอินดิก้าเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว เพราะทางบูล็อคเป็นคนเลือก ทั้งที่ตามหลักการแล้ว ผู้ซื้อข้าวไม่สามารถเลือกบริษัทใดทำการดังกล่าวได้เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายไทยโดยธรรมเนียมปฏิบัติต้องมีการเปิดประมูล”
สำหรับข้าวจีทูจีล็อตดังกล่าวดีลไว้สมัยนางพรทิวา นาคาศัย (อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์)และให้องค์การคลังสินค้า(อคส.)ไปเซ็นเอ็มโอยูไว้ ก่อนที่นายกิตติรัตน์จะเข้ามาสานต่อในรัฐบาลต่อมา ซึ่งในการเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงแรก ๆ นายกิตติรัตน์ ระบุทางอินโดนีเซียให้ราคาข้าวไม่ดีไม่ส่งมอบแน่นอน แต่ในเวลาต่อมาวงการข้าวได้ทราบภายหลังจากบริษัทผลิตกระสอบใส่ข้าวรายหนึ่งว่าอยู่ระหว่างผลิตกระสอบข้าวให้กับบริษัทสยามอินดิก้า ถึงทราบเรื่องว่ากำลังจะมีการส่งมอบข้าวให้บูล็อค ผู้ค้าข้าวจึงได้ทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์เพื่อขอเข้าพบและขอความชัดเจน แต่ก็ไม่รับคำตอบและไม่ได้ให้เข้าพบ
“พอเรื่องแดงขึ้นทางกระทรวงฯก็ทำพิธีการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยแจ้งในเว็บไซต์ของ อคส.เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าวในสต๊อกรัฐบาลส่งมอบให้บูล็อก 3 แสนตัน โดยโพสต์ข้อความช่วง 10 โมงเช้า ปิดรับสมัครตอนเที่ยง หรือแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งการที่ผู้ประกอบการจะยื่นซองประมูล และต้องทำค้ำประกันก็คงไม่ทันอยู่แล้ว แต่ปรากฏมี 2-3 บริษัทไปยื่น มีสยามอินดิก้า และบริษัทที่เป็นลิ่วล้อนักการเมืองที่เป็นตัวประกอบไปยื่นข้อเสนอ ซึ่งในการจัดฉากครั้งนี้ที่สุดแล้วสยามอินดิก้าก็ได้ไป แต่อีกฉากหนึ่งรัฐมนตรีเป็นคนพูดก่อนเปิดประมูลว่าคุณรู้มั้ยทำไมสยามอินดิก้าได้ เพราะบูล็อกเป็นคนเลือก ซึ่งสรุปแล้วเป็นการฮั้วประมูลอย่างชัดเจนตรงกับที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในครั้งนี้”
อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อส่งมอบให้บูล็อคในครั้งนั้น สยามอินดิก้าส่งมอบข้าวได้จริงเพียง 2.5-2.6 แสนตัน เพราะช่วงหลังทางบริษัทส่งมอบข้าวด้อยคุณภาพไปให้ ทำให้ทางบูล็อคตีกลับไม่รับมอบสินค้า และไล่เรือกลับ ทำให้ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหาย ขณะที่ผู้ค้าข้าวได้มีโอกาสถามทางบูล็อคหลังจากที่นายกิตติรัตน์ระบุว่าทางบูล็อคเป็นคนเลือกให้บริษัทอินดิก้าเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งมอบ ทางบูล็อคระบุว่าทางกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้ส่งรายชื่อมาให้เลยว่าบริษัทนี้(สยามอินดิก้า)จะเป็นผู้ส่งมอบข้าวให้คุณแทนรัฐบาล ซึ่งตรงกันข้ามกับคำพูดของนายกิตติรัตน์ที่ระบุว่า ทางบูล็อคเป็นคนเลือก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘กิตติรัตน์’ผิด ม.157-จนท.พาณิชย์-อคส.โดนด้วย! มติ ป.ป.ช. 7:2 ชี้มูลคดีข้าวบูล็อค
โปรดเกล้าฯ เรียกคืนเครื่องราชฯ 3 อดีตบิ๊กพาณิชย์ คดีข้าวจีทูจี
ตั้งคณะทำงานยึดทรัพย์ชดใช้คดีข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้านพ่วงดอกเบี้ย
4 เดือนไทยร่วง อันดับ 4 ส่งออกข้าวโลก