วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟสบุ๊ค เสนอ3ทางออกเร่งด่วน ดูแลผู้ป่วยโควิดรายได้น้อย โดยระบุว่า
ไม่มีที่ตรวจ ไม่มีเตียง
กลัว แต่ ไม่มีที่ตรวจ.. ติด แต่ ไม่มีที่รักษา
เจ็บหนัก แต่ ไม่มีเตียงให้นอน.. เดือดร้อน แต่ ยังไม่ได้รับเยียวยา
หลังจากที่เห็นภาพชาวบ้าน นอนรอตรวจโควิดหน้าวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เช้าวันนี้ว่าเป็นภาพที่น่าเศร้ามาก นี่หรือเมืองหลวงของประเทศไทยเรา ภาพนี้สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทุกวันนี้ วัคซีนถูกเลื่อน ผู้ป่วยไปถึงหน้าโรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธการรักษา และแม้แต่การตรวจเชื้อก็ยังเข้าถึงยากมาก
นายกรณ์ กล่าวว่า ทีม ‘กล้าอาสา-หาเตียง’ ของพรรคกล้า เราทำงานช่วยบรรเทาความเดือดร้อนมากว่า 3 เดือน วันนี้พบปัญหาที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนเข้ามาอีก ต้นตอคือ ระบบราชการ ปัญหาเฉพาะหน้าคือเรื่องการเข้าถึงการตรวจและการรักษา ในสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนใน 4 เรื่องหลักคือ
1. โรงพยาบาลส่วนใหญ่ปิดตรวจ ระบบจองคิวได้คิวข้ามเดือน
2. ประชาชนต้องหนีไปตรวจตามแล็บต่างๆ ซึ่งหลายที่เป็นการตรวจแอนติเจน พอผลออกมาเป็นบวก ก็ไม่สามารถเข้าระบบหาเตียงตามระบบได้ (ตามระบบหาเตียงต้องตรวจ PCR เท่านั้น) สรุปผู้ป่วยก็ต้องดิ้นรนออกไปตรวจที่หน่วยเชิงรุก
3. โรงพยาบาลเอกชน หากยังมีรับตรวจอยู่บ้างก็จะคิดแพงมาก คิดเงินพ่วงค่ารักษาโควิดหลักแสน
"ตอนนี้ผู้ป่วยโควิดที่มีรายได้น้อย จนปัญญา แทบไม่มีที่ไปเลยครับ และผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาได้ล่าช้า เพราะเข้าไม่ถึงการตรวจ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรพิจารณาให้มีการตรวจ Rapid Antigen ด้วยตัวเองได้และรู้ผลภายใน 20 นาที ความแม่นยำอาจจะน้อยกว่าการตรวจ PCR แต่จะช่วยให้ประชาชนรับยาที่เหมาะสมมารักษาได้เร็วขึ้น หากตรวจพบว่า มีเชื้อและมีอาการ การแยกตัวตามศูนย์พักคอยที่รัฐบาลและกทม. จัดตั้งจะดำเนินการได้ทันท่วงทีมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในครอบครัว ซึ่งตอนนี้เป็นปัญหาหนักมาก จากหลายเคสที่เราช่วยหาเตียง ช่วงหลังๆ ติดยกครัว" หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว
ทั้งนี้ นายกรณ์ ได้นำเสนอแนวทาง เพื่อบรรเทาปัญหาคือ
1. ไม่ว่าเตียงจะมี หรือไม่ ก็ต้องเปิดรับตรวจ
รัฐบาลจะผลักภาระให้โรงพยาบาลที่รับตรวจ รับเคสทั้งหมดก็ไม่ถูกซะทีเดียว
คอขวดหลักการนี้ ทำให้โรงพยาบาลปิดตรวจ จนลามเป็นสภาพที่เห็นในข่าว ต้องผ่อนคลายจุดนี้
2. หากตรวจแล้วพบเชื้อ อาการไม่มาก และในสภาวะยังไม่มีเตียงเพียงพอควรจัดยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย กักตัวเอง และคอยประเมินอาการ
3. ประชาชน ต้องเข้าถึงระบบตรวจ Rapid Antigen เพื่ออย่างน้อยถ้ามีอาการและผลเป็นบวก ควรเข้าศูนย์พักคอย จากนั้นค่อยตรวจ PCR ยืนยันอีกที
"หลายประเทศหันมาพึ่งพาการตรวจ rapid antigen มากขึ้น จริงอยู่มี false negative บ้าง แต่ยังดีกว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่การเข้าถึงการตรวจเชื้อโควิดยากมาก ตามศูนย์ต่างๆ ประชาชนต้องไปรอเข้าคิวตั้งแต่เช้ามืด การตรวจในโรงพยาบาลเอกชนก็ราคาสูงจนเป็นอุปสรรคต่อการรับการรักษาให้ทันท่วงที ทำให้เกิดการกระจายเชื้อจำนวนมาก" นายกรณ์ กล่าว