"เตียงผู้ป่วยโควิดวิกฤต" หมออนุตรชี้ กทม.ตึงมือแนะใช้ดูแลที่บ้านจริงจัง

07 ก.ค. 2564 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 17:39 น.

หมออนุตตรเผยข้อมูลเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามพื้นที่ กทม. วิกฤต ระบุไม่สามารถรับผู้ป่วยในเวลาอันสั้น แนะปรับใช้มาตรการดูแลที่บ้านอย่างจริงจัง ชี้มีคิวฉีดวัคซีนให้รีบไป

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า  
ก่อนหน้านี้ได้วิเคราะห์ภาพรวมของสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาใน รพ.ทั่วประเทศจากข้อมูลของ ศบค.มาให้ทราบกันหลายครั้งแล้ว  วันนี้ลองค้นข้อมูลการนอน รพ.และ รพ.สนามใน กทม.จากเวปไซต์ฝ่าวิกฤติโควิด 19 ของ กทม.มาวิเคราะห์ดู เสียดายที่ข้อมูลไม่มีรายละเอียดย้อนหลังมากนัก  มีข้อมูลการนอน รพ.และ รพ.สนามย้อนหลังถึงแค่ 13 พ.ค.64 และ ข้อมูลการรักษาหายรายวัน มีย้อนหลังถึง 27 มิ.ย.64 แค่ 10 วัน และไม่มีข้อมูลผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ  แต่ก็พอทำให้เห็นภาพบางอย่างได้
รูปที่ 1 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 นอน รพ.และ รพ.สนามใน กทม.ระหว่าง 13 พ.ค.-6 ก.ค.64 มีผู้ป่วยนอน รพ.ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากประมาณ 1 หมื่นราย เป็น 2 หมื่นราย โดยผู้ป่วยนอน รพ.สนามเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจาก 4,803 ราย เป็น 11,778 ราย  ส่วนผู้ป่วยนอน รพ.ทั่วไปเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จาก 5,383 ราย เป็น 8,221 ราย เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม.เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 1 พันคน เพิ่มเป็นเฉลี่ยวันละเกือบ 2 พันคน

\"เตียงผู้ป่วยโควิดวิกฤต\" หมออนุตรชี้ กทม.ตึงมือแนะใช้ดูแลที่บ้านจริงจัง

รูปที่ 2 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 ไม่ได้รับไว้ใน รพ. รายวัน ใน กทม. ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-6 ก.ค.64 ในช่วง 10 วัน โดยใช้การคำนวณจากสูตรง่าย ๆ ตามนี้ 
ผู้ป่วยไม่ได้รับไว้ใน รพ. = ผู้ป่วยรายใหม่ - ผู้ป่วยรักษาหาย - เสียชีวิต

\"เตียงผู้ป่วยโควิดวิกฤต\" หมออนุตรชี้ กทม.ตึงมือแนะใช้ดูแลที่บ้านจริงจัง
หมออนุตตร ระบุอีกว่า อาจจะไม่ตรงทั้งหมดในแต่ละวัน เพราะกว่าผู้ป่วยจะได้รับการนอน รพ.ตอนนี้ใช้เวลาหลายวัน แต่จะเห็นว่าวันที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านและเสียชีวิต ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยสะสมที่ไม่ได้รับไว้ใน รพ. 8 วัน มีเพียง 2 วันเท่านั้นที่ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่  ที่น่าห่วงก็คือผู้ป่วยไม่ได้รับไว้ใน รพ.สะสม 10 วัน จำนวนทั้งสิ้น 2,164 ราย เฉลี่ยวันละ 200 กว่าราย  ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่น่าจะต้องพักรักษาตัวอยู๋ที่บ้านรอเรียกตัว หรือ รพ.ให้ใช้การดูแลที่บ้านแบบ home isolation หรือบางคนอาจไปรักษาในจังหวัดอื่น ๆ

ข้อมูลนี้แสดงว่าศักยภาพการรักษาพยาบาลของ รพ.และ รพ.สนามใน กทม.ตึงมือกันจริง ๆ ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ในเวลาอันสั้น คงต้องมีการรอที่บ้าน หรือปรับใช้มาตรการดูแลที่บ้านแบบ Home isolation อย่างจริงจัง
ตอนนี้ทุกคนโดยเฉพาะชาว กทม. คงต้องดูแลตนเองอย่างเต็มที่ มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากที่ไม่รู้ว่าติดเชื้อมาอย่างไร แม้ได้ป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว ตอนนี้คงต้องเข้มกันมากขึ้นจริง ๆ คิดเสมอว่าทุกคนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา อาจมีเชื้อนำโรคโควิด 19 มาถึงเราได้ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน ล้างมือกันบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น อย่างถูกต้อง ทนอึดอัดกันหน่อย แล้วก็รีบไปรับวัคซีนเมื่อถึงคิวนัด และคงต้องเข้าใจว่าถ้าเกิดติดเชื้ออาจต้องรอคอยการนอน รพ.ตามคิวที่ รพ.จะสามารถรับได้
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีจำนวน 67,614 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล 33,991 ราย และอยู่ในโรงพยาบาลสยนาม 33,623 ราย โดยเป้นผู้ป่วยอาการหนัก 2,496 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย