ปชป. แนะเที่ยวภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ใช้เครื่องบินแทนรถบัส เลี่ยงติดเชื้อ

04 ส.ค. 2564 | 03:35 น.

คนรุ่นใหม่ ปชป. วอน ศบค.-กพท. ทบทวนเดินทางด้วยบัสมาใช้เครื่องบินแทนสำหรับนักท่องเที่ยวภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ เหตุใช้เวลาเดินทางกว่า 14 ชม. เสี่ยงติดเชื้อ

วันที่ 4 ส.ค.2564  นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าจากมาตรการยกระดับระลอกใหม่ ของศบค. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ได้ส่งผลให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศห้ามสายการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้เที่ยวบินทุกสายในประเทศ ต้องหยุดทำการบินทันที เพื่อรองรับมาตรการควบคุมโรค

 

จากมาตรการดังกล่าว ทำให้สายการบินไม่สามารถทำการบินเที่ยวบินในประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองได้ ขณะที่บางสายการบินย้ายฐานการบินไปยังท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อให้บริการผู้โดยสาร แต่หลังจากที่ ศบค. ได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเป็น 29 จังหวัด ในวันที่ 1 ส.ค. โดยพบว่าจังหวัดระยองเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ทำให้ไม่สามารถทำการบินได้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป จึงส่งผลกระทบกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”

ภาครัฐจึงได้จัดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เอ็กเปรส บัส” เพื่อทดแทนเครื่องบินที่ไม่สามารถทำการบินได้ และรถโดยสารประจำทางที่หยุดให้บริการเดินรถ ให้บริการเฉพาะผู้โดยสารโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ผู้ติดตามและสมาชิกครอบครัวของผู้โดยสารเท่านั้น ต้นทางจังหวัดภูเก็ต ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดินทางจากภูเก็ตตั้งแต่ 05.00 น. ถึงกรุงเทพมหานครเวลา 21.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 14 ชั่วโมง ใน ขณะที่การโดยสารทางเครื่องบิน ใช้เวลาเพียง 1.30 ชั่วโมงเท่านั้น 

 

นายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช หนึ่งในคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอาชีพเป็นนักบิน และเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาศูนย์ประสานงานฉุกเฉินในสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.) ได้มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่าการที่ผู้โดยสารต้องใช้เวลาอยู่บนรถบัสถึง 14 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ในการเดินทางร่วมกับผู้โดยสารท่านอื่นที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในขณะที่การโดยสารทางเครื่องบินนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่ากันมาก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องของระบบระบายอากาศ และระยะเวลาในการเดินทางที่สั้นกว่า 

 

“จาก 14 วันที่ผ่านมา (21 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม) ตั้งแต่การประกาศหยุดบินครั้งแรก 14 วัน ก่อนที่จะมีการต่อขยายนั้น จะพบว่าไม่สามารถช่วยควบคุมสถานการณ์ได้เลย ผู้ติดเชื้อยังคงสูงทุกวัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาจเป็นแนวทางที่ไม่ได้ผล แต่ในทางกลับกันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ซ้ำร้ายยิ่งกว่าเดิม” นายพันธ์พิสุทธิ์ กล่าว

ปชป. แนะเที่ยวภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ใช้เครื่องบินแทนรถบัส เลี่ยงติดเชื้อ

นายพันธ์พิสุทธ์ ยังกล่าวต่อด้วยว่านอกจากนี้การปิดการบินในประเทศยังทำให้คนมีความจำเป็นต้องเดินทางในระยะทางไกล ต้องหาหนทางอื่นในการเดินทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นการผลักดันคนกว่า 20,000 ชีวิตเป็นอย่างน้อยในอุตสาหกรรมนี้ให้กลายเป็นคนตกงานหรือว่างงานทันที จึงอยากให้ ศบค. และ กพท. ทบทวนการหยุดบินในประเทศแบบ ”เร่งด่วน” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในกลุ่มที่มีความจำเป็นในการเดินทาง และเป็นการช่วยเหลือกลุ่มสายการบินให้ต่อลมหายใจต่อไปได้ โดยอาจเพิ่มมาตรการบางอย่างในการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยง เช่นการนั่งเว้นที่ หรือแม้กระทั่งใช้เอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจโควิดมาใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงต่อไป