วันที่ 7 ส.ค. 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงว่า จำนวนคนติดเชื้อไวรัสรายใหม่เพิ่มขึ้นเกิน 20,000 รายต่อวันติดต่อกันมาหลายวันแล้ว และจำนวนผู้ป่วยที่รับการรักษาทุกวันในขณะนี้มากกว่า 200,000 คนแล้ว ส่งผลให้เกิดวิกฤติต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะการรักษาดูแลผู้ป่วย ทำให้เห็นภาพวิกฤติสำคัญที่อยากนำมาส่งสัญญาณ “เตือนภัย”ล่วงหน้า คือ การขาดแคลนยา ฟาวิพิราเวียร์ การขาดแคลนยา ฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรมให้ข้อมูลผ่านสื่อว่า ในเดือนสิงหาคม ผลิตยา ฟาวิพิราเวียร์ ได้ 2.5 ล้านเม็ด, กันยายน 23 ล้านเม็ด และตุลาคม 40 ล้านเม็ด ทำให้อนุมานว่า องค์การเภสัชกรรมมีกำลังผลิตยา ฟาวิพิราเวียร์เดือนละ 40 ล้านเม็ด
ปัจจุบันมีผู้ป่วยรับการรักษาจำนวน 220,000 คน โดยประมาณ และผู้ป่วย 1 คนต้องใช้ ยา ฟาวิพิราเวียร์ 10 เม็ดต่อคนต่อวัน แสดงว่าต้องใช้ยาวันละ 2.2 ล้านเม็ด หรือ เดือนละราว 65 ล้านเม็ด ในขณะที่กำลังการผลิตขององค์การเภสัชกรรมอยู่ที่ 40 ล้านเม็ดต่อเดือน ดังนั้นยา Favipiravir จะขาดขั้นต่ำเดือนละ 25 ล้านเม็ด ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนราวเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอสามวิธีแก้ไขคือ 1) นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ จากต่างประเทศเข้ามาเสริมเดือนละ 25 ล้านเม็ด 2) องค์การเภสัชกรรมเพิ่มกำลังการผลิตอีกเดือนละ 25 ล้านเม็ด เป็น 65 ล้านเม็ดต่อเดือน และ 3) ใช้ยาฟ้าทะลายโจรมาช่วยเสริมการขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 25 ล้านเม็ดต่อเดือน ศบค.จะเลือกใช้วิธีไหนหรือหลายวิธีทั้ง 3 วิธีนี้ผสมกัน เป็นประเด็นที่จะต้องเตรียมการและตัดสินใจล่วงหน้าภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะต้องใช้เดือนกันยายนเพื่อเริ่มปฏิบัติวิธีการแก้ปัญหา โดยหวังผลว่าเดือนตุลาคมจะไม่เกิดวิกฤตขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์
แนวทางแก้ไขปัญหาทั้ง 3 วิธีนี้ คือการแก้ปัญหาด้านการรักษาผู้ป่วยที่ยังคงมีความเสี่ยงสำคัญคือ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังกลายพันธุ์ต่อจากเดลต้าที่เรียกกัน ในหมู่แพทย์ว่า“Delta Plus” (เดลต้า พลัส) ที่ติดได้ง่ายและขยายตัวเร็ว
นั่นหมายความว่าถ้าการแพร่ระบาดนี้อาจจะทำให้เกิดจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 220,000 คน เป็น 300,000 คนได้ จำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ ก็จะยิ่งขาดแคลนมากขึ้นไปอีก ในทางกลับกันถ้าเราสามารถคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น และทำให้เราสามารถ ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องดูแลรักษาลงอยู่ในระดับ 150,000 คน ระบบสาธารณสุขของประเทศน่าจะรองรับได้ดังนั้นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการจัดการกับไวรัสโควิด 19 ที่เร่งด่วนคือการลดจำนวนผู้ป่วยลงให้เหลือ 150,000 คน