วันนี้(19 ส.ค.64) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงเงินภาษี ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร จำเลยที่ 1, นายศุภภิจ หรือ สิริพงศ์ ริยะการ หรือริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่ กทม. เขต 22 (บางรัก) จำเลยที่ 2, นายประสิทธิ์ อัญญโชติ อายุ 59 ปี จำเลยที่ 3 และ นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ อายุ 35 ปี จำเลยที่ 4 สองพ่อลูก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 147, 151, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 (เดิม) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
โดยอัยการโจทก์ฟ้องสรุปความผิดว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 พ.ค.55 ถึงวันที่ 26 ต.ค.56 พวกจำเลยร่วมกันและสนับสนุนการกระทำความผิด คือร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวง กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ผู้เสียหาย เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรและรัฐโดยทุจริต
นายสาธิต จำเลยที่ 1 และ นายศุภกิจ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ทราบดีถึงความเท็จดังกล่าวมา ตั้งแต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจด้วยการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตโดยนายศุภกิจ จำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจของตนสั่งการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสถานประกอบการเกี่ยวกับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอความเห็นยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพกิจการบริษัท รวม 25 บริษัท ของจำเลยที่ 3-4 ที่ขอคืนภาษีและคืนภาษีให้แก่บริษัท นิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว
ทั้งที่ยังมีข้อสงสัยว่า เป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่ ซึ่งนายศุภกิจ จำเลยที่ 2 ละเว้นไม่สั่งการให้มีการตรวจสอนสถานประกอบการ รวมทั้งไม่สั่งการให้ตรวจสอบการซื้อขายสินค้าวัตถุดิบการเก็บรักษาสินค้า การจ้างแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ทั้งยังเร่งรัดให้ผู้ใต้บังคันบัญชาเสนอสำนวนการตรวจสภาพกิจการอันการเป็นผิดระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจปฏิบัติการ พ.ศ.2554 ประกอบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในหลายกรณี รวมถึงสั่งระงับการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าใบกำกับภาษีและใบส่งสินค้าออกต่างประเทศที่นำมาใช้อ้างแสดงเป็นหลักฐานขอคืนภาษีนั้นเป็นเอกสารถูกต้องแท้จริงหรือไม่อีกด้วย
นอกจากนี้ นายศุภกิจ จำเลยที่ 2 ยังสั่งปรับปรุงการกำกับดูแลประเภทกิจการเกี่ยวกับการขายส่งโลหะและแร่โลหะจากเดิมมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลายทีมให้เหลือเพียงทีมเดียว เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบบริษัท และสั่งการให้ทีมตรวจสอบบริษัทออกตรวจกิจการบริษัทบาง บริษัทในกลุ่ม 25 บริษัทของจำเลยที่ 3-4 ก่อนล่วงหน้าที่จะมีการยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และใช้ผลการตรวจล่วงหน้าในการพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการดำเนินการไม่ปกติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรกำหนด
ส่วนนายสาธิต จำเลยที่ 1 อธิบดีกรมสรรพากรขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมสรรพากร ทราบดีว่า การดำเนินการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ตามแนวทางปฏิบัติและระเบียบกรมสรรพากร และเมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติที่เกี่ยวข้องในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้รายงานมายังนายสาธิต จำเลยที่ 1 กลับสั่งการให้สำนักงานตรวจสอบภาษีกลางไปตรวจสอบใบขนสินค้าขาออกกับกรมศุลกากรว่า มีการส่งออกจริงหรือไม่เท่านั้น เป็นการจงใจ เพื่อไม่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งที่ข้อสำคัญจะต้องสั่งการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ขอคืนภาษีประกอบกิจการจริงหรือไม่ ขัดต่อแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน แต่นายสาธิตจำเลยที่ 1 กลับละเว้นไม่สั่งการตรวจสอบ อีกทั้งผลตรวจสอบใบขนส่งสินค้าขาออกตามที่นายสาธิต จำเลยที่ 1 สั่งการก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงยืนยันว่ามีการขนส่งสินค้าออกจริงหรือไม่
กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถอนุมัติคืนเงินภาษีได้ หากไม่มีธนาคารมาค้ำประกัน แต่นายสาธิตจำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้ง ทั้งยังอาศัยอำนาจในการบังคับบัญชาข้าราชการของกรมสรรพากรเข้ามาติดตามเร่งรัดพร้อมทั้งมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งโดยเร็ว
พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้นไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการฉ้อฉลนั้นถูกปกปิด จนที่สุดของนายศุภกิจ จำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง
โดยการกระทำดังกล่าว นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และ นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ จำเลยที่ 3-4 กับพวกได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ไปแบ่งปันกันโดยทุจริตให้กับนายสาธิต จำเลยที่ 1 และนายศุภกิจ จำเลยที่ 2 โดยนายสาธิตจำเลยที่ 1 ได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริตไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวด้วย
การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของตนไปโดยมิชอบและทุจริตเบียดบังเงินของรัฐที่อยู่ในอำนาจจัดการดูแลเก็บรักษาของตน ไปเป็นของตนเองและบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังและรัฐได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,097,016,533.99 บาท โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ริบของกลางทองคำแท่ง น้ำหนัก 77 กิโลกรัม และทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ กับให้พวกจำเลยร่วมกันชดใช้เงินที่เบียดบังเอาไปและยังไม่ได้คืน จำนวน 3,097,016,533.99 บาทแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ผู้เสียหายด้วย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาว่า นายสาธิต และนายศุภกิจ จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามป.อ.มาตรา 147 (เดิม), 151 (เดิม) และ 157 (เดิม) ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยที่ 1-2 เป็นความผิดกรรมเดียว
แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นบทหนักซึ่งมีโทษเท่ากัน
ศาลจึงให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย แต่เพียงบทเดียว ตาม ป.อ.มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต
ส่วนนายประสิทธิ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 (เดิม), 265 (เดิม), 268 (เดิม), 341 (เดิม) ประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (3)(6 (เดิม) )(7) ประกอบ ป.อ.มาตรา 86 กระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ.มาตรา 90 ลงโทษจำคุก นายประสิทธิ์ จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน และให้จำเลยทั้งสาม ร่วมกันชดใช้เงิน 3,097,016,533.99 บาท แก่กรมสรรพากรกระทรวงการคลัง
และนับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำ ฟย.23/2560 (หมายเลขแดง ฟย.47/2561) ของศาลอาญา ริบของกลางทองคำแท่งน้ำหนัก 77 กิโลกรัม ทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำตามคำขอท้ายฟ้อง และทองคำแท่งทุกรายการที่ส่งมอบแก่คณะกรรมการจัดการทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 15 พ.ย.62 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนจำเลยที่ 4 พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย จึงพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาทนายความของนายสาธิต และนายศุภกิจ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาคดีทุจริต ฯ พิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป