วันที่ 20 ส.ค.64ในการประชุมสภาฯที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 วันที่สาม เริ่มพิจารณามาตรา 18 งบฯกระทรวงพลังงาน วงเงิน 1,873,129,300 บาท โดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีราชชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ด้านพลังงานทดแทนน้ำมัน และทุกวันนี้หลายประเทศพยายามปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากสภาวะโลกร้อน วันนี้เทคโนโลยีมาถึงจุดที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันต้นทุนต่ำกว่าพลังงานประเภทอื่นๆ อีกทั้งประเทศไทยมีแสงอาทิตย์เหลือเฟือตลอดทั้งปี แต่เราปล่อยปละละเลย ทั้งที่กระทรวงพลังงานควรเป็นกระทรวงต้นแบบ แต่กลับไปใช้พลังงานที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกรมพลังงานทดแทน และกรมอนุรักษ์พลังงาน ที่ใช้เงินมากที่สุด แต่ยังขอจัดซื้อรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล ทั้งที่จริงมีรถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ได้เหมือนกัน
“ผมขอตัดงบ 5% เพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อให้ซื้อเฉพาะรถพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น และอยากเห็นกระทรวงพลังงานเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลิตแสงโซล่าเซลล์ เพื่อให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง แทนที่จะไปสนใจแต่เรื่องแอลพีจีหรือพลังงานเผาไหม้อื่นๆ เพราะเชื่อว่าในระยะยาวพลังงานไฟฟ้าจะยิ่งมีความต้องการใช้มากขึ้น จึงอยากให้เน้นพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ แก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างจริงจัง เราจะได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง”นายพิสิฐ กล่าว
ด้าน นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เป็นการตั้งงบแบบชาญฉลาด เพราะเป็นลักษณะการตั้งผูกพันประจำปีเกือบทุกโครงการ เช่น ซื้อรถตู้, รถบรรทุก, เช่ารถยนต์ประจำตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี, เช่ารถยนต์ประจำตำแหน่งรัฐมนตี ใช้วิธีการจ้างบริษัทมหาชนข้างนอกมาทำงบประมาณ มีการจัดซื้อยานพาหนะของกระทรวงพลังงานก็ใช้วิธีการเดียวกันหมด ทำให้กมธ.ไม่สามารถตัดได้ เพราะถ้าตัดจะส่งผลกระทบการใช้งบต่อเนื่อง ด้วยวิธีการแบบนี้ ทำให้ตนไม่สงสัยว่าเหตุใดกมธ.จึงตัดได้แค่ 10 ล้านบาท และไม่เห็นว่ามีโครงการไหนเป็นโครงการเพื่อประชาชน วันนี้ราคาน้ำมันขึ้นทุกวันในวิกฤตโควิด - 19 ถามว่ากระทรวงพลังงานคิดอย่างไรบ้างนจึงขอปรับลดงบ 7% และขอเรียกว่างบทิพย์ เพราะไม่สามารถตัดได้จริง เพื่อให้ไว้เป็นข้อสังเกตในการทำงบประมาณปี 65
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายปตท.สผ. ได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตเลียมอ่าวไทย และบงกช ทำให้บริษัทเชฟลอนผู้รับสัมปทานเดิมต้องรื้อถอน แท่นผลิตรวม 1.5 แสนล้านบาทและส่งมอบทรัพย์สินให้กับรัฐ ทำให้บริษัทเชฟรอนฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะกระทรวงออกกฎกระทรวงย้อนหลัง ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงบประมาณคดีค่าโง่หรือไม่ แม้รมว.พลังงานยุคคสช. เป็นสิทธิผู้ประกอบการเอกชนยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการได้ แต่หากรัฐทำให้เป็นธรรม การเสียค่าโง่อาจไม่เกิดขึ้น ขอให้ชี้แจงหากตอบไม่ได้ต้องขอตัดลดงบกรมเชื้อเพลิงพลังงานจำนวน 185 ล้านบาท เพื่อเตรียมใช้ในกรณีที่มีการฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการทั้งหมด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงพลังงานซุกงบจ้างทนาย เพื่อต่อสู้คดีที่บริษัทเชฟรอนฟ้องร้องกับหน่วยงานกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นทนายต่างชาติที่เป็นคู่กรณีกับบริษัทเชฟรอน เกือบ 1,000 ล้านบาท และพบการตั้งงบประมาณของกระทรวงพลังงานเพื่อชดข้อผิดพลาดของรัฐ และการลุอำนาจของคนสั่งไม่ใช่เพื่อประโยชน์ประชาชน อย่างไรก็ดีรายละเอียดและข้อมูลทั้งหมดขอให้รมว.พลังงานพิจารณาและดำเนินการ ทั้งนี้ประเด็นที่เกี่ยวข้องขอให้ติดตามต่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ