พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
วาระสำคัญคือ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร เตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) คนใหม่ ต่อจาก พล.อ.ณัฐพลนาคพาณิชย์ เลขาธิการคนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2564
ขั้นตอนหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยคาดการณ์ว่าจะเสนอเข้า ครม. ในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2564 นี้
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมสั้นๆ ว่า “ขอโทษคนในด้วยที่ไม่ได้ขึ้น เดี๋ยวจะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตำแหน่งเทียบเท่าซี 11”
พล.อ.สุพจน์ ถือว่าเป็นนายทหาร “ข้ามห้วย” มาปฏิบัติหน้าที่ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นคนที่ 5 เพราะนับแต่ “บิ๊กตู่-พล.อ. ประยุทธ์” เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล ตั้งแต่ยุค คสช.เรือยมาจนถึงปัจจุบันก่อนหน้านี้ก็ได้โยก “นายทหาร” เข้ามาคุมสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้วถึง 4 คน ประกอบด้วย
1. พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย โยกมาดำรงตำแหน่ง ในปี 2558
2. พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ จากผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2560
3. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา จาก รองปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2562
และ 4. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ จาก รองผู้บัญชาการทหารบก เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2563
สำหรับ เสธ.ไก่-พล.อ.สุพจน์มาลานิยม จะมีอายุราชการเหลืออีก 2 ปี ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปี 2566
โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.สุพจน์ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงหรือในตำแหน่ง เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) มาแล้ว
แต่สำหรับภารกิจพิเศษที่มีการดึงตัว “เสธ.ไก่-พล.อ.สุพจน์” ข้ามห้วยจากกองทัพบก มาเป็นข้าราชการพลเรือนในตำแหน่ง “เลขาฯ สมช.” ครั้งนี้ ว่ากันว่ามีภารกิจสำคัญ 2 เรื่องใหญ่คือ
1. จัดการเรื่องหน่วยปฏิบัติการด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคนี้
และ 2. กำหนดยุทธวิธีว่าด้วยด้านการเมือง-ความมั่นคงในภูมิภาคนี้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน
บทบาทของ พล.อ.สุพจน์ ในช่วงที่ผ่านมานั้น อดีตเคยร่วมปฏิบัติภารกิจใน “สมรภูมิรบบ้านร่มเกล้า” หลังเกิดความขัดแย้งเรื่องเส้นเขต แดนระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) บริเวณบ้านร่มเกล้า อ. ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ในช่วงปี 2530
โดยได้รับคำสั่งให้เข้าไปผลักดันกองกำลัง สปป.ลาว ที่รุกลํ้าอธิปไตยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวหลายครั้ง จนภารกิจประสบความสำเร็จยึดพื้นที่สำคัญได้ ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสในระหว่างการต่อสู้ ถูกสะเก็ดปืนใหญ่ บริเวณหน้าอกด้านซ้าย ทะลุเข้าปอด และเข้ารับการรักษาจนหายเป็นปกติ
จากภารกิจดังกล่าวนำไปสู่การได้รับพระราชทาน “เหรียญกล้าหาญ” นับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีเกียรติยศสูงสุด สำหรับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ
นอกจากนี้ ในปี 2562 พล.อ.สุพจน์ ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น รับรางวัลเกียรติยศ “จักรดาว” สาขาการทหาร จากโรงเรียนเตรียมทหาร
“เสธ.ไก่-พล.อ.สุพจน์” ได้รับขนานนามว่าเป็น “นักรบ-นักการทหาร-นักพัฒนา” เนื่องจากเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดปกครองและพัฒนาในโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดอย อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการร่างแผนพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการถวาย
พล.อ.สุพจน์ เกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2506 ที่ จ.ชลบุรี เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนบุตร 4 คน ของ นายประเชิญ และ นางสุภาพ มาลานิยม มีบุตรชาย 1 คน คือ ร.ต.พีรัช มาลานิยม
เส้นทางด้านการศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับ มัธยมต้นจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลก่อนสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 22 เข้ารับการศึกษาต่อเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 33
หลังจากจบการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารม้า และได้ผ่านการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ประกอบด้วย หลักสูตร ชั้นนายร้อย เหล่าม้า รุ่นที่ 2 ปี 2531, หลักสูตรชั้นนายพันเหล่าม้า รุ่นที่ 1 ปี 2535, หลักสูตรหลักประจํา โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 73, หลักสูตร รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, หลักสูตร นายทหารประชาสัมพันธ์ รุ่นที่ 21
หลักสูตร ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน สถาบันภาษา กองทัพสหรัฐฯ USA Defense Language Institute, Texas, หลักสูตร โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สหรัฐฯ ปี 2548 (Intermediate Level), หลักสูตรครูฝึกการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ
ส่วนตำแหน่งสำคัญในอาชีพทหาร พล.อ.สุพจน์ ผ่านการดำรงตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ ผู้บังคับหมวดผู้บังคับกองร้อยทหารม้า กองพันทหารม้าที่ 18, ผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารม้าที่ 14, ผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล กอง พลทหารม้าที่ 1
นายทหารฝ่ายยุทธการ กรมทหารม้าที่ 3, นายทหารฝ่ายส่งกําลังบํารุง กองพลทหารม้าที่ 1, ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 28, รองผู้อํานวยการกองฝึกร่วมและผสม กรมยุทธการทหาร, นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจํารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ผอ.กองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, รองผู้อํานวยการสํานักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร
เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล, รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้าน การก่อการร้ายสากล, หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจําเสนาธิการทหาร และ เจ้ากรมยุทธการทหาร
นับแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป “เสธ.ไก่-พล.อ.สุพจน์” จะเข้ารับหน้าที่เลขาฯ สมช.คนใหม่ ต้องรอดูว่างานด้านความมั่นคงของไทย จะเป็นไปในทิศทางใด...