นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวผู้ต้องหาจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตว่า เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษา ผู้คนต่างมีคำถามว่าปล่อยให้มีการทำเช่นนี้ได้อย่างไร ทำไมถึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน และจะมีแนวทางแก้ไขเรื่องลักษณะแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร
เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการ และ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก เนื่องจากประเทศไทยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ตั้งแต่ เดือน ต.ค. 2550 ซึ่งต้องมีการจัดทำกฎหมายลักษณะดังกล่าว แต่เวลาผ่านมาเนิ่นแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งตนจะพยายามทำกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ให้สำเร็จให้ได้
สังคมบางส่วนอาจจะคิดว่าประมวลกฎหมายอาญาก็ใช้ได้ แต่มองเห็นจุดอ่อนที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกระทำ ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกฎหมายเฉพาะ ทำให้สมเหตุสมผลกับการกระทำ อย่างกรณีที่ จ.นครสวรรค์ ถือเป็นกรณีศึกษา เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำกับบุคคลอื่น หากมีการสืบสวน ทำสำนวนแล้ว ถ้าจำเลยเป็นพวกตนเองก็อาจจะทำสำนวนให้อ่อนและฟ้องในมาตราที่มีโทษต่ำกว่าที่ควรเป็น ซึ่งการทรมานหรือทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษตั้งแต่จำคุก 5 ปี - ตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท มีอายุความตั้งแต่ 10-20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา
กรณีอุ้มหายต้องตามหาจนกว่าจะพบตัวหรือรู้ชะตากรรม ซึ่งร่างกฎหมายการป้องกันการทรมานมีการเสนอถึงมือวิปรัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีการเร่งจัดทำกฎหมายหลายฉบับให้ได้ออกมาบังคับใช้สำเร็จ โดยกฎหมายการป้องกันทรมาน เป็นกฎหมายคดีพิเศษ ซึ่งคิดว่าเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภา จะเข้าไปเป็นประธานกมธ.เองด้วย
"ผมอยากทำกฎหมายนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความยุติธรรม ซึ่งร่างกฎหมายป้องกันการทรมานน่าจะเข้าสภาได้ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งบุคคลที่หวาดกลัวการถูกทำร้าย หรือเป็นพยานในคดีต่างๆ หากวิตกกังวลให้นึกถึงกระทรวงยุติธรรม เราจะให้การคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ซึ่งสามารถยื่นคำร้องได้ที่ สำนักงานคุ้มครองพยานและสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ" นายสมศักดิ์ กล่าว
โดยเมื่อเข้าโครงการแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัย ได้รับสิทธิประโยชน์ทำมาหาได้ตามอัตราขั้นต่ำ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และหากผู้ใกล้ชิดถูกข่มขู่คุกคามสามารถร้องขอให้คุ้มครองความปลอดภัยได้ รวมถึงจะได้รับค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ และเงินเยียวยาแก่ครอบครัวในกรณีเสียชีวิตขณะอยู่ในโครงการด้วย