“ภูมิใจไทย”ลากผู้ว่ารฟท.อุ้ม“ศักดิ์สยาม”โต้ฝ่ายค้านปมที่ดินเขากระโดง

03 ก.ย. 2564 | 09:26 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 16:34 น.

“ภูมิใจไทย”ลาก “ผู้ว่า รฟท.” แจงไม่ฟ้อง “ศักดิ์สยาม” ปมที่ดินเขากระโดง เหตุออกเอกสารสิทธิ์ถูกต้องโดยรัฐเหมือนชาวบ้านบุรีรัมย์ 900 ราย ยันยึดหลักธรรมาภิบาลไม่รังแกประชาชน

วันนี้(3 ก.ย.64) ที่อาคารรัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย พร้อมข้าราชการกระทรวงคมนาคม โดย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมแถลงข่าวชี้แจงประเด็นที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อค่ำวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

นายนิรุฒ กล่าวว่า กรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ สิ่งที่ส.ส.อภิปรายอาจสร้างความเข้าใจผิด เนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ รฟท.มีที่ดินประมาณ 2.45 แสนไร่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

 

1.ที่ดินที่ใช้งานปัจจุบัน ประมาณ 1.9 แสนไร่ กับที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้งานคือยังไม่ได้ใช้เดินรถ ประมาณ 5.5 หมื่นไร่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ที่จัดสรรหารายได้เชิงพาณิชย์ด้วยการให้เช่า จำนวน 5 พันไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 4.9 หมื่นไร่  

 

และ 2.ที่ดินที่ไม่ได้ใช้เดินรถ และไม่สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้ คือ พื้นที่ที่ยังมีปัญหา ประชาชนบุกรุกโดยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  ประมาณ 1.88 หมื่นราย ทั้งนี้ รฟท. แก้ไขโดยเจรจาประชาชนให้ทำเรื่องเช่าเป็นอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนั้นยังมีที่ดินอีกประเภท คือ พื้นที่ที่ รฟท. สันนิษฐาน มีความเชื่อว่าเป็นของ รฟท. แต่มีการออกโฉนดที่ดิน นส.3 และเอกสารประเภทอื่น ขึ้นมาทับบนที่ของรฟท. ซึ่งมีหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เขากระโดงด้วย ซึ่งปัญหาการบุกรุก รฟท.มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา และมีการเจรจากับผู้บุกรุกนำไปสู่การเช่าอย่างถูกหมายหลายราย มีการมอบนโยบายให้กระทรวงคมนามคม และ รฟท. ใช้หลักธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการ

 

ที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ก็มีปัญหาทั้งมีผู้บุกรุก และผู้ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน  จากการสำรวจเมื่อต้นปี 2564 มีการออกเอกสารสิทธิ์ของหน่วยงานราชการ คือ กรมที่ดิน ประมาณ 900 ราย กรณีแบบนี้จะเห็นว่า คนที่มีเอกสารสิทธิ์ได้ถือเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เขามีความมั่นใจว่าเป็นเอกสารที่ให้สิทธิ์ในการดำรงอยู่ในที่ดิน

 

ขณะเดียวกัน รฟท.ก็มีความเชื่อว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของรฟท. แต่รฟท. ถือหลักว่าจะไม่ฟ้องประชาชน เพราะเขาถือเอกสารสิทธิ์ของทางราชการให้ถือว่าเป็นผู้สุจริต แต่ที่มีคำพิพากษาศาล เพราะผู้ถือเอกสารสิทธิ์เหล่านั้น ไปขอออกโฉนด รฟท.จึงต้องเข้าไปพิสูจน์สิทธิ์ด้วยการต่อสู้ในศาล โดยให้ศาลพิสูจน์ความจริงและตัดสิน จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาที่มีการกล่าวถึง

ขอย้ำว่า รฟท.ไม่ได้ไปฟ้องประชาชน แต่ประชาชนไปขอออกโฉนด รฟท.จึงต่อสู้ และศาลเชื่อว่าเป็นของ รฟท. จากนั้น รฟท.จึงมีหนังสือหารือกรมที่ดินว่า การออกเอกสารสิทธิ์ มีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ ยืนยันว่า รฟท.ใช้ช่องทางไปหาผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

 

ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวอีกว่า ที่มาของคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด (อสส.) มาจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการพิจารณาที่ดินแปลงหนึ่งในบริเวณเขากระโดง และมีความเห็นว่าที่แปลงนั้นออกโฉนดโดยมิชอบ ไม่ได้บอกว่าคนที่ถือโฉนดนั้นไม่ชอบ จึงมีหนังสือแจ้งไปกรมที่ดินขอให้เพิกถอนโฉนด แต่กรมที่ดินไม่เพิกถอน

 

โดยมีหนังสือถึงรฟท. และ หารือไปยังอสส. โดยอสส.ตอบว่ากรมที่ดินให้รฟท.เป็นผู้ฟ้อง เพราะเป็นเจ้าของที่ดิน ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของอสส. ประกอบกับรฟท.ยึดหลัก ว่าการไปฟ้องประชาชนในพื้นที่กว่า 900 ราย อาจจะไม่เหมาะสม เพราะประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ของทางราชการ เรายังมีทางเลือกอื่นที่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงได้คือกรมที่ดิน จึงเป็นที่มาของหนังสือที่ลงนามไปถึงกรมที่ดิน เพื่อขอพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ถึงที่มาที่ไปในการออกเอกสารสิทธิ์

 

“รฟท.ดำเนินการแบบนี้ในทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะเขากระโดง เพราะในที่ที่ประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ เราถือว่าเขาสุจริต แต่เราจะค้นหาความจริงจากผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ระรานผู้ถือเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเป็นหลักที่เรายึดมาต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งดำเนินการช่วงต้นปีหรือกลางปีนี้ รฟท.ยืนยันว่า เราไม่เลือกปฏิบัติ แต่เรื่องของประชาชนที่เข้ามาบุกรุกกคือประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์อะไรเลย ลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ เราอาจจะดำเนินการฟ้องร้องผู้บุกรุกซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่

 

ดังนั้น การบอกว่ารฟท.ฟ้องประชาชน แต่ไม่ฟ้องรัฐมนตรีเป็นการกล่าวหาที่คลาดเคลื่อน ขอยืนยันว่า รฟท. ได้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย ระเบียบธรรมาภิบาลอย่างถูกต้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติอะไรเกินกรอบกฎหมาย” ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว