สรุปสาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลุ้นโหวตวาระ 3 วันที่ 10 ก.ย.นี้

06 ก.ย. 2564 | 04:15 น.

ลุ้นโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดสาระสำคัญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ปรับสัดส่วน ส.ส.เขต- บัญชีรายชื่อใหม่

ในวันที่ 10 กันยายนนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พุทธศักราช.. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่สาม

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 91 หรือ ร่างที่ 13 นี้ เป็นเพียงร่างเดียวที่สามารถฝ่าด่าน ส.ส.และ ส.ว.มาได้ จากทั้งหมดที่มีการเสนอเข้าที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณารวม 13 ฉบับ เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับคณะ

เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย. 2564 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ขึ้นบัลลังก์แจ้งผลการลงมติของแต่ละร่าง ในการผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการที่ต้องได้คะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 367 จาก 733 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 483 คน ส.ว. มี 250 คน) ในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 84 คน

หลังการอภิปรายรวม 2 วัน และการขานชื่อเพื่อลงมติและรวบรวมคะแนนเป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมง โดยมีมติจากที่ประชุม เห็นชอบ 552 เสียง (ส.ส. 342 และ ส.ว. 210) ไม่เห็นชอบ 24 เสียง และงดออกเสียง 130 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 27 เสียง

 

สำหรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 13 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 เหตุผลก็คือ

"โดยที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนห้าร้อยคน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง

หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสี่ร้อยคนก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน

การให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช ...." 

สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกอบด้วย การแก้ไข 2 มาตรา ได้แก่

มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง หรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่

ในกรณีมีเหตุใด ๆ ที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึง 100 คน ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง

ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

กล่าวคือ มาตรา 83 เดิมกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน เปลี่ยนเป็น ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน

และมาตรา 91 เดิมใช้วิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยนำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หารด้วย 500 คน

แล้วนำผลลัพธ์ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกเขต เพื่อค้นหา "จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมี" แล้วลบด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง จะได้ผลลัพธ์ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

หมายความว่า กลับไปใช้ระบบคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม โดยใช้บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แล้วคำนวณคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับเลือกตั้งมาคำนวณเพื่อแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แทน

สำหรับวาระสามนี้จะต้องใช้เสียงสนับสนุนของสองสภามากกว่า 376 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนแล้ว ต้องมีเสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน ก่อนให้รอไว้ 15 วัน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป