ย้อนรอย ล้มแผนแบริเออร์ ชนวนอธิบดีทช.ถูกเด้งเข้ากรุ

16 ก.ย. 2564 | 08:46 น.

“ปฐม เฉลยวาเรศ” อธิบดีทช. โดนเก็บเข้ากรุผู้ตรวจคมนาคม เหตุแผนแบริเออร์ล้ม ทำ “ศักดิ์สยาม” ไม่ปลื้ม ซุ่มฝากหนังสือลาออกเข้ากระทรวง อ้างปัญหาสุขภาพ

ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียน โดย 1 ในนั้นคือ  นายปฐม เฉลยวาเรศ  (นักบริหารระดับสูง) อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม 

 

 

แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า การสั่งโยกข้าราชการของนายปฐม  เฉลยวาเรศ ในครั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการแบริเออร์ยางพาราสะดุดและไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งเป็นนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ช่วยหนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้ รวมทั้งผลักดันให้โครงการนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง อีกทั้งในช่วงที่บินไปเกาหลีได้นำทัพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปทดสอบการใช้แบริเออร์ยางพารากันกระแทก กลับพบว่าผลดำเนินการทดสอบไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังเดินหน้าที่จะสานต่อโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
 

ไม่เพียงเท่านั้นในระหว่างที่โครงการทำถนนแบริเออร์หุ้มยางพารากำลังดำเนินการโปรโมทเพื่อรองรับโครงการที่ใช้กฎหมายวิ่งความเร็ว 120กม./ชม.ในช่วงที่ผ่านมากลับล้มไม่เป็นท่า เนื่องจากงบประมาณดำเนินการกลับไม่เพียงพอ จนวิ่งเต้นขอตั้งงบประมาณปี 2565 จากสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะสำหรับโครงการฯนี้ โดยของบประมาณถึง 7.5 หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่งบประมาณการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนมีจำกัด

 

 

“เหตุใดถึงไม่มีการงวางแผนแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันยังพบว่ามีถนนอีกหลายแห่งที่ชำรุดและต้องการให้ภาครัฐช่วยเร่งดำเนินการซ่อมแซมพื้นถนนเพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวก แต่นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ยังไม่ถอยพร้อมเดินหน้าขอกู้เงินจากสบน. แตะ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อหาแนวทางกู้เงินและค้ำประกันเพิ่มโดยเป็นการกู้เงินผูกพัน 2-3 ปี ในระยะทาง 14,000 กม.”

 

 

ฟากส.ส.พรรคก้าวไกลและในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาค้านโครงการดังกล่าวด้วย อย่าง “สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ว่า โครงการติดตั้งแบริเออร์ยางพารา 3 ปี วงเงิน 8.56 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโครงการสร้างดีมานด์เทียมเพียงเพราะหาทางปั่นราคายางพาราให้สูงขึ้น ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นและทั่วโลกก็ไม่ทำกัน อีกทั้งโครงการนี้มีความล้มเหลวสูง และเป็นภาระงบประมาณในอนาคตที่ต้องซ่อมแซมเปลี่ยนยางพาราที่นำมาตากแดดเล่น ให้มันแห้งกรอบ ไม่ได้มีผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือเหมาะแก่ความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ รวมทั้งผลการทดสอบการใช้ยางพาราในโครงการฯ ไม่มากพอที่จะสรุปและไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างการใช้ยางหรือไม่ใช้ยางพารา หากมีการใช้เหล็กดามระหว่างบล็อคอาจหลุดออกมาเกี่ยวมอเตอร์ไซด์ให้ล้มได้

 

 

“ผมไม่อยากให้โครงการติตตั้งแบริเออร์ยางพาราล้มเหลวไม่เป็นท่าเหมือนกับการสร้างดีมานด์เทียมรอบที่แล้วในโครงการถนนยางพาราที่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า ซึ่งทั้ง ทล. และ ทช. ก็ยอมรับและเลิกตั้งงบประมาณมาผลาญในโครงการถนนยางพาราแล้ว”

จากกรณีที่สั่งโยก “นายปฐม  เฉลยวาเรศ” นั้น ล่าสุดนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้เป็นประธานสักขีพยานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนระหว่าง “กรมการขนส่งทางบก” ซึ่งมี “จิรุฒม์  วิศาลจิตร” อธิบดีกรมขนส่งทางบก “กรมทางหลวง” โดยมีอธิบดี “สราวุธ  ทรงศิวิไล” และกรมทางหลวงชนบท “ไกวัลย์ โรจนานุกูล” รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดี  แต่กลับไร้เงา “ปฐม  เฉลยวาเรศ” เข้าร่วมงานในครั้งนี้ อีกทั้งมีการยื่นหนังสือลาออกทันที โดยอ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ 

 

 

ขณะที่ “อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ยังคงถูกย้ายไปนั่งตำแหน่งอธิบดี กรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นการกลับมาคุมงานสายถนนที่ตนเคยได้เลื่อนขั้นและได้ตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้ถูกโยกไปดูงานสายอากาศ ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของนายใหญ่ ที่สามารถโอนย้ายสนามบินภูมิภาคได้  โดยมีสนามบินบุรีรัมย์ 1 ในสนามบินที่มีการโอนย้ายให้ทอท.ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จ 1 ม.ค.65  ฟาก “ปริญญา แสงสุวรรณ” เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ได้เพียง 7 เดือน กลับได้ไต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมท่าอากาศยานคุมสายอากาศ-ดูแลสนามบินภูมิภาคอย่างน่าแปลกใจ

 

 

การโยกย้ายข้าราชการในสังกัดคมนาคมรอบนี้ กลายเป็นกระแสดราม่าถึงการลาออกของ “นายปฐม เฉลยวาเรศ” ซึ่งอาจมีเบื้องลึกมากกว่านั้น หรือนี้จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ในเครือคมนาคมยูไนเต็ดกันแน่