วันที่ 22 ก.ย.2564 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.จากพรรคการเมืองขนาดเล็ก หวังให้สมาชิกวุฒิสภา เข้าชื่อกันเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่ผ่านมาว่า วุฒิสภา ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นดังกล่าว ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากพ้นกำหนด 15 วันหลังรัฐสภา ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ส.ส. และ ส.ว. ก็ไม่สามารถเข้าชื่อได้แล้ว พร้อมปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การแก้ของรัฐสภาครั้งนี้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง เทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก เห็นว่า เป็นประเด็นทางกฎหมาย และเมื่อกฎหมายใช้บังคับ ก็ต้องปฏิบัติตามจนกว่าจะมีการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ
ส่วนเมื่อประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรี จะสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่นั้น นายพรเพชร ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น ที่จะเข้าชื่อกัน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความได้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ดำเนินการดังกล่าว ยกเว้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว ที่นายกรัฐมนตรี สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญยื่นตีความด้วยตนเองได้
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีผลใช้บังคับแล้ว จะยังมีช่องทางส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเพิ่มเติมอีกได้หรือไม่ว่า จะต้องรอพิจารณาว่าจะมีประเด็นใด ที่ไปกระทบจนทำให้ต้องมีการตีความ ซึ่งก็จะมีเงื่อนในการส่งศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อโต้แย้งข้อกฎหมาย เป็นต้น