10 ตุลาคม 2564 - หลังจากรัฐบาลปลดล็อกเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ช่วงปลายปี 2564 จากนั้นเว้น 120 วัน จะเข้าสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คาดว่าอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2565นั้น
ขณะนี้แม้อยู่ในสถานการณ์โควิด19 แต่พบว่า สนามการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เริ่มปรากฎสีสัน และความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะตัวเต็ง 5 อันดับแรก จากผลสำรวจนิด้าโพล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีดังนี้ ....
อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ?
อันดับ 1 ร้อยละ 27.71 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
อันดับ 2 ร้อยละ 24.60 ยังไม่ตัดสินใจ
อันดับ 3 ร้อยละ 15.49 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อันดับ 4 ร้อยละ 9.57 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกทม.คนปัจจุบัน
อันดับ 5 ร้อยละ 5.24 ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือ พรรคก้าวไกล
เจาะรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ปฎิเสธไม่ได้ว่า อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ " คะแนนนิยมนำโด่ง ซึ่งล่าสุดมีความเคลื่อนไหวน่าจับตา เมื่อ ประกาศดึงตัว ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปรียบเป็นหญิงแกร่งแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ มาร่วมทีมกำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองด้วย
" ผมรู้จัก อ.ยุ้ย ดร.เกษรา มาตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวะ และ อ.ยุ้ยเป็นอาจารย์ที่คณะบัญชี อ.ยุ้ยมีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และ ด้านอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาในช่วงปี 2556 ผมได้มาเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่จุฬาฯ ผมก็เปลี่ยนสถานะเป็นลูกศิษย์อ.ยุ้ยในวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และ ท่านก็ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในงาน IS ของผมด้วย
อ.ยุ้ยเป็นคนเก่ง มีความตั้งใจทำงานสูง และ สิ่งที่สำคัญที่ผมสังเกตได้คือ อ.ยุ้ย มีความเข้าใจจิตใจของผู้อื่น (Empathy) ติดดิน ช่วงที่ผมลงพื้นที่ในช่วงหลายๆเดือนที่ผ่านมา ก็ได้ชวน อ.ยุ้ยลงพื้นที่ในชุมชนหลายๆแห่ง อ.ยุ้ยลุยพื้นที่ คุยกับชาวบ้าน และ ยังมีการเก็บรายละเอียดต่างๆ พร้อมทั้งคิดนโยบายหลายๆด้าน เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด
รู้สึกดีใจครับ ที่คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสนใจและตั้งใจอยากจะช่วยแก้ปัญหาของเมือง การพัฒนาเมืองให้ก้าวหน้า ต้องการแนวร่วมจากคนทันสมัยที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายด้าน และ ร่วมมือกันช่วยกันทำเมืองให้น่าอยู่ "
ข้อความข้างต้น นายชัชชาติ โพสต์ระบุ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว และนับเป็นการประกาศตัวดร.ยุ้ย อย่างเป็นทางการ หลังปรากฎตัวลงพื้นที่ร่วมกันหลายครั้งผ่านสื่อ
รู้จัก ดร.ยุ้ย - เกษรา ทีมนโยบาย
สำหรับผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทด้านการเงินที่ University of California at Riverside และปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ โดยทุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ Claremont Graduate University เมื่อสำเร็จปริญญาเอก ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะร่วมช่วยงานของครอบครัวด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เจาะแนวคิดลดเหลื่อมล้ำสังคมเมือง
ในแง่นโยบายของ ดร.ยุ้ย สำหรับการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2564 ภายใต้สถานการณ์โควิด19 นั้น บริษัท เสนาฯ ประกาศตัวชัดเจน ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูกกว่า 1 ล้านบาทต่อยูนิต หรือ คอนโดฯต่ำล้าน ผ่านแบรนด์ 'เสนา คิทท์' หลังต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของคนที่มีรายได้จำกัด และต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในราคาที่สามารถจับต้องได้ง่าย
ส่วนแนวคิดด้านการพัฒนาเมือง ดร.ยุ้ย ระบุ ถึงสภาพความเป็นอยู่ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมเมืองกรุงเทพฯไว้อย่างน่าสนใจว่า ...
" ขณะที่ยุ้ยอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์และได้รับข้อมูลมาตลอดว่าที่อยู่อาศัยของไทยเรา oversupply มากมาย หากพิจารณาในส่วนของหน่วยเหลือขาย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะมีหน่วยเหลือขายในตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 171,283 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 836,530 ล้านบาท มีการเตือนถึงความมากจนอันตราย ถึงขั้นต้องเตือนกันว่าจะมีเหลือมากจนเกิดอาจวิกฤติ
แต่ในขณะเดียวกัน ยุ้ยได้ไปลงชุมชนมากมายที่อยู่ในกทม. คนในชุมชนไม่ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ถึงแม้บางคนจะสามารถมีบ้านได้ผ่านการช่วยเหลือของโครงการบ้านมั่นคงของภาครัฐ แต่ก็ยังเป็นที่เช่า พื้นที่เดียวกันที่อสังหาฯ oversupply ก็มีชุมชนที่กำลังอยู่แบบใจหายได้ทุกวัน เพราะไม่ได้เป็นที่ดินที่ถูกต้องบ้าง บุกรุกบ้าง ยุ้ยว่าเหตุการณ์นี้สามารถเป็นตัวแทนอย่างง่ายๆ ของความเหลื่อมล้ำของความเจริญที่ต้นทุนที่ดินแพง การก่อสร้างแพง ในขณะที่มีคนจำนวนมากอีกกลุ่มที่มีรายได้น้อยมาก และบางทีอาจจะเหมือนน้อยลงทุกวันเมื่อเทียบกับราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ราคาที่อยู่อาศัยที่ต่ำที่สุดในกทม. น่าจะ 1 ล้านเป็นอย่างน้อย และค่อนข้างอยู่ไกลตัวเมืองมาก คนในชุมชนซื้อกันไม่ไหว ถึงไหวก็เดินทางมายังแหล่งงานไม่ไหวอยู่ดี ราคาโครงการบ้านมั่นคงประมาณ 300,000 - 400,000 บาทก็แทบจะเกินเอื้อมแล้ว
Gap นี้ เป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจน เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของกทม.ที่สำคัญอย่างหนึ่งเลยคือ การช่วยทำให้คนในชุมชนแออัดมีโอกาสเข้าถึงบ้านได้ เราไม่สามารถปล่อยให้กลไกตลาดในระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ทำงานอย่างเดียว เพราะถ้าอย่างนั้นแล้ว คนในชุมชนก็จะไม่มีทางได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยเลย "