วันที่ 25 ต.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)กรณีที่คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติ 29:0 ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ว่า ในฐานะที่ตนเป็นนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เป็นเพียงผู้ประสานงานไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรแทนคนทั้งมหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของนิสิต และศิษย์เก่าที่มาช่วยกัน อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการคณะกรรมการ อบจ. ที่มีอยู่ประมาณ 20 คน มาเป็นคนตัดสินให้ใครทำนั่นทำนี่ ตนคิดว่า เขาไม่มีอำนาจขนาดนั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในมหาวิทยาลัยต้องมาพูดคุยกัน นอกจากนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรม มีศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจ และมีศิษย์เก่ามากมาย ดังนั้นการจะทำอะไรก็ขอให้คิดถึงเรื่องในอดีตและคิดถึงคนอื่นเขาด้วย
"ส่วนที่มีคนไปพูดว่า ไม่มีใครอยากมาแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว ผมยืนยันว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงแน่นอน เพราะสมัยตอนที่ผมเรียนอยู่ มีแต่คนแย่งกันไปแบกเสลี่ยง เพราะถือเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้ทำหน้าที่นี้ในงานฟุตบอลประเพณีฯ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป ผมยังเชื่อว่าหรือคุณค่าและความรู้สึกของนิสิต จะยังไม่เปลี่ยนไป ความภาคภูมิใจของพวกเรายังคงอยู่ เพียงแต่คนบางกลุ่มพยายามด้อยค่าสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นคนที่จะทำอะไรก็ควรฟังคนอื่นด้วยไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง" นายชัยวุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า อธิการบดีหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องออกมาจัดการเรื่องนี้อย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย ตนในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า คิดว่าการที่นิสิตปัจจุบันจะทำอะไร ก็อยากให้คิดถึงศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ และความภาคภูมิใจของเรา ที่ได้สั่งสมกันมา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นี่คือสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจ ตนจึงอยากให้ทุกคนรำลึกถึงนี้สิ่งนี้ไว้ตลอด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 64 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์ เมื่อมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้อ้างว่า การยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยวถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่มีมานาน