นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Paisal Puechmongkol” แสดงความเห็นในหัวข้อ "3 ลุงกับการเมืองไทย" ดังนี้
1. 3 ลุงยืนยันหลายครั้งว่าจะไม่แยกกันจนวันตาย ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นเอกภาพและเป็นพรรคหลักพรรคหนึ่งในสมรภูมิเลือกตั้งหน้า
2. การชี้นำและสร้างกระแส ให้ลุง 2 + ลุง 3 แตกแยกกับลุง 1 และให้แยกไปตั้งพรรคใหม่ จะทำให้ พปชร. แยกเป็น 2 หรือ 3 เสี่ยง นั่นคือการยื่นโอกาสจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย
3. วิกฤต พปชร. ที่ผ่านมา ลุงป้อมได้ใช้บารมี สยบความขัดแย้งให้ทุกคนดำรงสถานะเดิม และร่วมทำงานกันต่อไป เพื่ออาศัยเวลา สมานแผลในจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องกระทำเช่นนั้น คนเราบางทีคบหากันมานานก็แตกกันภายหลัง บางครั้งทะเลาะจะฆ่ากันแต่กลับคบหาเป็นเพื่อนร่วมตายในภายหลัง บางลุงแม้วัยหนุ่มจะเจ้าคิดเจ้าแค้น แต่วันนี้ไม่ใช่เด็กอมมือแล้ว มีภาระอันแสนหนัก จะทำให้ทำตัวเป็นเด็กจะได้หรือ?
4. ถ้าพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมารัฐบาลเพื่อไทยคงไม่ปล่อยให้มีการยึดอำนาจง่ายๆอีกแล้ว และคงพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทั้งหลายโดยอาศัยมวลชนที่สนับสนุนให้มีเสียงข้างมาก และเมื่อถึงวันนั้นจะแก้ไขอย่างไร เพราะบัดนี้ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. หรือแม้แต่เสื้อฟ้าเสื้อเขียว ต่างก็อ่อนล้าไปด้วยกัน
5. แม้ 3 ลุงผนึกพลังกันแล้วก็ใช่ว่าจะชนะเลือกตั้งเด็ดขาดเสมอไป อย่างมากก็แค่จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เสถียรภาพจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงในสภา และถ้าแตกแยกกันหรือมีรอยร้าวก็ย่อมบั่นทอนต่อคะแนนนิยมอย่างแน่นอน
6. การเปิดตัวคุณอุ๊งอิ๊งในครั้งแรกก็เห็นชัดแล้วว่ามีแผนงานและกลยุทธ์ทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา ในขณะที่พรรคก้าวไกล ก็ขยายมวลชนไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ขยายไปถึงระดับอายุ 35 ปีแล้ว ก็ประมาทไม่ได้เช่นเดียวกัน
7. พรรคที่จะต่อสู้กันเป็นหลักในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้าก็คือ พปชร. กับพรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็พร้อมที่จะจับมือใครก็ได้ขอให้ได้เป็นรัฐบาล จึงมิใช่กำลังที่จะวางใจได้ และในสถานการณ์เช่นนั้น ใครเล่าที่จะมีบารมีมากพอในการประสานยึดโยงหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน ก็มีแต่ลุงป้อม"จอมประสานสิบทิศ"คนเดียว และลุงป้อมก็มีมืองานสำคัญ คือร้อยเอกธรรมนัส - วิรัช - นฤมล
นายไพศาล ยังระบุด้วยว่า เป็นธรรมดาของคนหมู่มากที่ย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา ความสำคัญอยู่ที่จะจัดการกับความขัดแย้งอย่างไรไม่ให้กลายเป็น ความขัดแย้งที่เป็นปรปักษ์