ภายหลังพรรคเพื่อไทย (พท.) สร้าง “เซอร์ไพรส์” ด้วยการเปิดตัว อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ของพรรคเพื่อไทย ในการประชุมใหญ่ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564
สร้างความคึกคึกให้กับมวลสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะส่งสัญญาณว่า “ตระกูลชินวัตร” ไม่ทิ้งการเมือง ซึ่งจะทำให้ “เลือดหยุดไหล” ไม่มีส.ส.ออกจากพรรคไปอยู่กับพรรคอื่นอีก
“พรรคเพื่อไทย” ฮึกเหิมถึงขนาดประกาศว่า เลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า จะกวาดเก้าอี้ส.ส.แบบ “แลนด์สไลด์” แน่นอน ขณะที่โพลล์ต่าง ๆ ก็ชี้ว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง
ถัดมาไม่กี่วัน คือ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2564 พรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์ ลงนามโดย นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย
ประเด็นสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าวก็คือ จะมีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์
โดยอ้างว่ามีภาคประชาชนเรียกร้องและเสนอร่างแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ม.112 – ม.116) พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ พร้อมนำข้อเสนอเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ทั้งเพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล และแก้ไขกฎหมาย รวมถึงระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
หลังมีแถลงการณ์ดังกล่าวออกไป แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างมาก เพราะเพิ่งเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” เข้ามาคุมพรรคเพื่อไทย เพื่อต้องการให้เลือดหยุดไหล ไม่ให้ส.ส.ย้ายพรรค เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ การตั้งรัฐบาล แต่พอมาเป็นอย่างนี้ ก่อให้เกิดปฎิกิริยาต่อต้านการกลับสู่อำนาจของเพื่อไทย และ ทักษิณ
ขณะเดียวกันมีการมองกันว่าการเสนอแก้ไข ม.112 และ ม.116 ของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว ทำให้ “เกมเปลี่ยน” จะทำให้กลายเป็นว่า พรรคเพื่อไทย เดินเข้าสู่โหมดเดียวกันกับพรรคก้าวไกล นั่นคือ การต่อต้านสถาบัน ไม่เอา ม.112
ทำให้เมื่อวันที่ 2 พ.ย.64 ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra เกี่ยวกับประเด็นมาตรา 112 โดยมีเนื้อหาดังนี้
2-3 วันนี้ได้ฟังดราม่าเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 จากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการที่จะแก้ไขหรือยกเลิก ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมา และผ่านการปรึกษาในเรื่องมาตรา 112 มาหลายครั้ง
ผมขอเล่าเป็นประสบการณ์ มาตรา 112 มีมานานตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฎ์ น่าจะประมาณปี 2500 ตัวกฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัวหรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดี โดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Power เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ และยิ่งใช้มากก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจมาก ซึ่งในสมัยก่อนสนง.ตำรวจแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่ร้องเรียนขึ้นมาว่า เป็นเรื่องของการจงใจที่จะละเมิดมาตรา 112 จริงหรือเปล่า และจำนวนคดีก็มีน้อย และทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาทางอาญา (Due Process of Law)
ฉะนั้นปัญหาก็น้อย แต่ช่วงนี้ปัญหาเยอะมาก ยิ่งใช้ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความโกรธเคือง แล้วก็ไปโทษกันต่างๆ นานา ซึ่งผมเคยบอกแล้วว่า รัฐบาลน่าจะจับเข่าคุยกับกลุ่มเยาวชนที่เห็นต่างในทุกวันนี้ เราก็จะได้แนวทางที่อยู่ร่วมกันระหว่างคนในวัยที่ต่างกัน
ถ้าจะเริ่มติดกระดุมใหม่ที่ติดผิดเม็ด ก็โดยการที่ปรับกระบวนการในการดำเนินคดีของ 112 เสียใหม่ ให้เหมือนในอดีตที่ทำอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่กลั่นแกล้ง ไม่หาเรื่อง แล้วก็ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาให้ได้รับการประกันและใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไป และพูดคุยกับเด็กๆ จะได้เข้าใจตรงกัน เราจะอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา กติกาอะไรที่มันยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบอกว่ายกเลิกมาตรา 112 เพราะอารมณ์โกรธ จากอารมณ์โกรธ หรือบางคนก็ต้องการจะยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ยกเลิกมาตรา 112 ไม่เอาเด็ดขาด ซึ่งแน่นอนมันมี Yes and No แต่ขณะเดียวกันนั้น การพูดคุยกันน่าจะดีกว่า และการจัดระเบียบให้เป็นระเบียบเสียจะดีกว่า วันนี้บ้านเมืองเหมือนกับอยู่ในภาวะที่ไม่มีการจัดการ ไม่มีการบริหาร บ้านเมืองเปรียบเสมือนอยู่ในภาวะไม่มีการบริหารการจัดการ คงเลือกใช้แต่ Law and Order ซึ่งมันเป็นการขัดหลักที่จะให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีไม่แตกแยก
ดังนั้นสรุป ผมขอแนะนำว่าก่อนจะมาบอกว่าจะแก้มาตรา 112 หรือไม่ ขอให้ไปเริ่มย้อนคิดว่า เมื่อตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคมต่างหาก ถ้ามีการจัดระเบียบให้ถูกต้องและมีการพูดคุยกับผู้เห็นต่างบ้าง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และนำไปสู่การรักษากฎหมายที่เป็นธรรม และก็จะไม่มีใครเดือดร้อน
“แต่วันนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเทศขาดการบริหารการจัดการ เลือกที่จะใช้ Law and order เท่านั้น ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่า หายใจยาวๆ มาเริ่มต้นใหม่ตามที่ผมแนะนำเบื้องต้น เพื่อความรัก เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้” นายทักษิณ ระบุ
ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยทำ “พลาด” ทาง ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคตัวจริง เลยต้องออกมา “แก้เกม” เพราะหากไม่แก้เกมจะถูกครหาได้ว่า เป็นปฏิปักษ์กับสถาบัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด
ขณะที่วันนี้ (3 พ.ย.64) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ออกมากล่าวถึงจุดยืนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ที่นำเสนอในสื่อมวลชนกับเจตนารมณ์จริงค่อนข้างไม่ตรงกัน เพราะเจตนารมณ์ของพรรคที่ชัดเจน คือ ต้องการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกบังคับใช้กฎหมายและถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกจับเป็นนักโทษทางความคิดเพียงเพราะเห็นต่างเท่านั้น ก็ใช้กฎหมายบังคับใช้ ถือเป็นการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราเห็นสภาพปัญหาที่จะเป็นวิกฤติทางการเมือง เพราะมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้เรียกร้อง ผู้สนับสนุน และผู้ต่อต้าน ถ้าเราในฐานะพรรคการเมืองปล่อยไว้ทั้งที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ดึงปัญหามาแก้ไขในรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตย สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือการแก้ไขนอกสภาฯ เราไม่อยากให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้น จึงรีบอาสานำทุกเรื่องที่เป็นปัญหาเข้าสู่รัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาตามวิถีประชาธิปไตย
“เราไม่ได้มุ่งหมายว่าจะแก้อย่างไร หน้าที่เราคือรับเรื่องมาก่อน ส่วนจะแก้อย่างไรเป็นหน้าที่ของรัฐสภาตามประเด็นที่เสนอเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีสภาพการบังคับใช้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เริ่มต้นจากตำรวจ อัยการ ศาล เหล่านี้คือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแล้วแต่เขาเสนอเข้ามา โดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ จะกลับไปวงจรอุบาทว์เหมือนเดิม มีการปะทะทางความคิดที่แตกแยกกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าวเมื่อถามถึงกรณี นายทักษิณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงมุมมองการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะน้อมรับความเห็นดังกล่าว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราฟังความเห็นทุกฝ่ายทุกคน ส่วนจะนำเข้าสู่สภาฯในมุมไหนหรืออย่างไร เป็นไปตามสภาพนั้น ซึ่งเราต้องยอมรับความเห็นทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นตัวกลางในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นหน้าที่ จะปล่อยให้ไปสู้กันบนถนนไม่ได้
“ส่วนจะเป็นไปตามความเห็นของผู้ใดก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่ใช้เสียงข้างมาก ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มิชอบ เราสามารถใช้กลไลรัฐสภาตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนนี้ได้ เช่น การตั้งกระทู้ถามสด และนำเข้าสู่กรรมาธิการเพื่อตรวจสอบ อาทิ ทำไมไม่ให้ประกันตัวว่า เพราะอะไร หรือเสนอเป็นญัตติด่วนก็ได้ โดยทำได้หลายมิติ” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ