ปชป.ยันไม่รับร่างแก้รธน. แนะมีโอกาสเสนอใหม่ได้

17 พ.ย. 2564 | 04:36 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2564 | 11:55 น.

ปชป. ยันไม่รับร่างแก้รธน. ชี้ยุบวุฒิสภาชกหมัดตรงไปถึงคนลงมติ แนะ ยังมีโอกาสเสนอใหม่ เช่นเดียวกับพลังธรรมใหม่ หวั่น นำไปสู่เผด็จการรัฐสภา

วันที่ 17 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... วานนี้ (16 พ.ย.) พรรคได้รับฟังความเห็น และซักถามผู้ชี้แจง โดยเฉพาะประเด็นสภาเดี่ยว และคณะผู้ตรวจการ ที่มีลักษณะโครงสร้างส่วนใหญ่ คือ ส.ส.เป็นองค์ประกอบหลัก โดยเฉพาะที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ องค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีองค์ประกอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน ส.ส.รัฐบาล 3 คน และจากที่ประชุมศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด 3 คน ซึ่งยังมีเป็นปัญหาความไม่ชัดเจน เรื่องความซ้ำซ้อนอำนาจอธิปไตย และเผด็จการรัฐสภา

 

“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าโดยหลักข้อบังคับ หากรับหลักการจะไม่สามารถแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) สาระบัญญัติหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน และกระบวนการภาคประชาชน ยังมีโอกาสเสนอเข้ามาอีก โดยอยากขอให้ดำเนินการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นจริงได้ แต่ครั้งนี้เป็นการชกหมัดตรงไปยังผู้ลงมติโดยตรง คือ การเสนอยุบวุฒิสภา ดังนั้น เราเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรายืนยันเป็นผู้นำในการดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย แต่ในกรณีนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรับหลักการไม่ได้” นายชินวรณ์ กล่าว

ปชป.ยันไม่รับร่างแก้รธน. แนะมีโอกาสเสนอใหม่ได้

 

 

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงว่า จากการติดตามการเสนอหลักการ และเหตุผล ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชน จากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายคัดค้าน พบว่าร่างนี้มีข้อดีหลายข้อ เป็นร่างที่ต้องการคัดค้านเผด็จการ และหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีก รวมถึงนายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ผู้เสนอเรียกร่างฉบับนี้ว่าเป็นร่าง “เลิก ล้าง ลบ” แต่ตนขอตั้งชื่อว่า เป็นร่างฉบับแอบแฝงซ่อนเร้น เป็นร่างม้าไม้เมืองคอย หากลงมติรับร่าง ในอนาคตจะเกิดเผด็จการรัฐสภา และกระทบ 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในส่วนของเผด็จการรัฐสภาจะมีความรุนแรงมากกว่ารัฐสภาสมัย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะมีการแทรกแซงองค์การต่างๆ ทั้งศาล และองค์กรอิสระ ดังนั้น พรรคพลังธรรมใหม่ จะขอยืนหยัดปกป้องสถาบันหลักของชาติ จึงมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแอบแฝง ขณะที่ในส่วนของพรรคเล็ก จากการพูดคุยกันจะปล่อยให้ฟรีโหวต ซึ่งบางพรรคอาจไม่รับร่าง และบางพรรคอาจงดออกเสียง

 

เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าเพื่อไทย ระบุว่าหากไม่รับร่างอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม นพ.ระวี ยืนยันว่าร่างนี้แอบแฝง มีเป้าหมายที่ไม่ต้องการให้ผ่านอยู่แล้ว เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่จะไปกระทบสถาบันหลักของชาติ ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องห่วง เมื่อมีสิ่งไม่ถูกต้องเข้าสภา สภาก็ไม่สามารถรับได้ เสียง 1.3 แสนเสียง จะต้องฟังเสียง 16.8 ล้านเสียงด้วย