วันที่ 23 พ.ย.64 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าตนมองว่าร่างพ.ร.ป.ที่กกต. ดำเนินการและอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น จนถึงต้นเดือนธ.ค. ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติและนำเสนอต่อรัฐสภา จะมีการเสนอได้รวดเร็วที่สุด และสามารถบรรจุในระเบียบวาระประชุมรัฐสภาได้
ส่วนร่างพ.ร.ป. ที่จะเสนอโดย ส.ส.บางพรรค, ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล, ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทย นั้นจะมีขั้นตอน อย่างน้อย 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ หลังจากที่เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แล้ว ต้องจัดทำกระบวนการรับฟังความเห็น และเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ให้คำรับรอง เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณาในชั้นของรัฐสภา เชื่อว่าที่ประชุมจะยึดร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ฉบับของ กกต. ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.เป็นหลัก ส่วนฉบับอื่นๆ นั้นจะเป็นฉบับที่พิจารณาประกบเท่านั้น
"ดังนั้นเมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ เชื่อว่าร่าง พ.ร.ป. จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในช่วงเดือนม.ค. 2565 ส่วนกรณีที่สภาฯ จะปิดสมัยประชุมเดือนก.พ.นั้น ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถพิจารณาในวาระ2 และวาระ 3 ได้ในการเปิดสมัยประชุมถัดไป คือ 22 พ.ค.2565
เมื่อถามว่ากังวลว่ารัฐบาลอาจเกิดอุบัติเหตุและยุบสภาก่อนรัฐสภาจะทำกฎหมายลูกแล้วเสร็จ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เพราะอำนาจประกาศยุบสภา เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นเมื่อผู้มีอำนาจบอกว่าไม่ยุบสภาฯ แล้วคนที่ออกมาบอกว่าจะยุบสภา คือคนไม่มีอำนาจ จะให้ฟังใคร