“ปริญญ์”แนะรัฐเร่งพัฒนา e-Government ขรก.“เวิร์คฟอร์มโฮม”ไม่เวิร์ค

16 ส.ค. 2564 | 06:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 18:25 น.

“ปริญญ์”แนะรัฐปรับตัวเร่งพัฒนา e-Government เพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชนในยุคราชการ“เวิร์คฟอร์มโฮม”ไม่เวิร์ค

วันนี้(16 ส.ค.64) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ห่วงประชาชนที่เดือดร้อนจากการทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม (Work from home) ของหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องปรับรูปแบบการทำงานกะทันหันในช่วงวิกฤตโควิด-19 แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาทันท่วงที พร้อมจัดสรรงบประมาณปี 65 มาพัฒนา e-Government ขับเคลื่อนแผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอลให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ที่แท้จริง 

 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการธุรกิจว่า ได้รับความความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากการที่หน่วยงานของภาครัฐต้องปิดให้บริการ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของ ศบค. อย่างเคร่งครัด 

 

เพราะขั้นตอนการยื่นเอกสาร การทำธุรกรรม รวมถึงการขอความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น ทำพาสปอร์ต ติดต่อซ่อมระบบไฟฟ้า - ประปา และการขอเอกสารประกอบการทำธุรกิจ เป็นไปอย่างล่าช้ามาก และไม่ได้รับความสะดวกเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากยังไม่พร้อมทำงานจากบ้าน เพราะมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ เช่น ไม่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ไม่มี Fax อินเทอร์เน็ตช้า หรือ ไม่เสถียร เป็นต้น 

 

งานบางตำแหน่งไม่สามารถทำจากที่บ้านได้ รวมทั้งข้อมูลของแต่ละหน่วยงานยังไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้การบริการประชาชนเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานภาครัฐเวิร์คฟอร์มโฮมก็มีข้อดี คือช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคลงได้ ช่วยลดรายจ่ายส่วนตัวในชีวิตประจำวัน  และลดรายจ่ายโดยรวมของสำนักงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 

                                 
 

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของดังกล่าวของประชาชนอย่างทันท่วงที ทั้งในระยะสั้น อาทิ ร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบ้าน อินเทอร์เน็ตมือถือ และค่าโทรศัพท์มือถือราคาประหยัด ติดตั้งฟรี WiFi ให้ครอบคลุม ลดค่าน้ำ-ไฟ และช่วยเหลือในระยะยาวด้วย เพราะเรายังต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน โดยควรจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 มาพัฒนารัฐบาลดิจิตอล e-Government ให้เกิดขึ้นได้จริงในเร็ววัน ดังนี้ 

 

1. พัฒนาทักษะและสมรรถนะใหม่ให้กําลังคนภาครัฐและประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยได้ ผ่านการเทรนนิ่งรูปแบบต่าง ๆ

 

2. นำระบบบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้เพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และขจัดการคอรัปชั่นในกระบวนการทำงานของภาครัฐ เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีธรรมาภิบาล 

 

3. เดินหน้านโยบาย Paperless กับทุกหน่วยงาน แปลงเอกสารเป็นข้อมูลดิจิทัล ลด/งดการใช้กระดาษ ลดค่าใช้จ่าย ลดการส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานรัฐ เพิ่มการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และลดภาระของประชาชนที่ต้องเจอกับขั้นตอนมากมายของระบบราชการที่ซ้ำซ้อน


4. สนับสนุนให้เกิด Digital Lean Management ในหน่วยงาน นำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมมาปรับใช้กับการทำงาน  เช่น นำหุ่นยนต์ AI มาช่วยงานในโรงพยาบาล

5. ปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการของหน่วยงานรัฐให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด เช่น การที่กระทรวงพาณิชย์ปรับหลักสูตรการเทรนนิ่งต่าง ๆ เป็นรูปแบบออนไลน์ Gen Z CEO และการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรับการบริการหลายด้านให้เป็นออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชน เป็นต้น และควรพัฒนาแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ให้รวมทุกบริการของภาครัฐมมาไว้ในที่เดียว “One Stop Service” 

 

6. พัฒนาระบบการทำงานของภาครัฐให้สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ รองรับ Remote Working และการเวิร์คฟอร์มโฮมถาวรในอนาคต เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐ อย่างที่รัฐวิสาหกิจและเอกชนหลายแห่งกำลังทำอยู่ตอนนี้

 

7. การบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงานและใช้ Big Data เพื่อเป็นประโยชน์กับการตัดสินใจและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน เช่น ประชาชนที่มีสิทธิ์ควรได้รับการคืนภาษีโดยอัตโนมัติและไม่ต้องยื่นเรื่องขอเอง รวมถึงการเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ควรสะดวกขึ้น

 

8. พัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย Cyber Security เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้บริการรัฐบาลดิจิตอล 

 

9. การปรับ/ตัดกฎหมาย กฎระเบียบให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิตอล เช่นการเบิกจ่าย การใช้บัตรประชาชนดิจิตอล 

 

รัฐบาลมีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอล 2563-2565 ที่ชัดเจนแล้วแต่ยังขาดการบูรณาการในการขับเคลื่อนให้แผนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในยุค “New Normal” ที่มาถึงเร็วกว่าที่หลายคนคาดจากการเกิดวิกฤติโควิด ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งแผนการขับเคลื่อนและจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้โดยด่วน