ปัดเป็นพัลวันกันใหญ่กับกระแสข่าว “กลุ่มสามมิตร” นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน รวมถึง ส.ส.ในสังกัดกลุ่มสามมิตร เตรียมย้ายไปสังกัด “พรรคเพื่อไทย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
กระแสข่าวที่ออกมาอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของทาง “กลุ่มสามมิตร” กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กลุ่มสามมิตรตัดสินใจที่จะย้ายกลับบ้านเก่าอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า กลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขณะนี้ถูกศาลฎีกานักการเมืองสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นายวิรัช จะย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย
จากกระแสข่าวที่กระหึ่มออกมาดังกล่าว ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. แกนนำกลุ่มสามมิตร ออกมาระบุว่า วันนี้รัฐบาลมีเวลามากกว่า 1 ปี 6 เดือน การจะไปพูดคุยถึงเรื่องการเลือกตั้งและการย้ายพรรคดูแล้วไม่ธรรมชาติ ก็มีผู้คนที่อยากให้เป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าดูในภาพรวมแล้วเหมือนกับประเทศไทยและรัฐบาลกำลังออกจากอุโมงค์แห่งความมืด เรากำลังจะเห็นแสงความสุขสดชื่นของประเทศ เรื่องน้ำท่วม เรื่องโควิดเริ่มลดลง และรัฐบาลได้ทำงาน
แต่ในส่วนหนึ่งก็มีการพยายาม “ปล่อยข่าว” ออกมา สื่อมวลชนก็ทราบ
ฉบับแรกที่ออกมาเป็นข่าวเป็นใคร ซึ่งในเรื่องของการเมืองไม่ควรจะมาพูดกันในระยะเวลานี้ ควรให้ถึงเวลาพอเหมาะพอควร เรื่องพวกนี้ควรเอาเวลาไปแก้ไขปัญหาประเทศดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเพื่อให้เดินไปได้ และพูดเรื่องการเลือกตั้งและการย้ายพรรคไม่ได้เป็นเรื่องดีของประเทศโดยรวม
“ผมอยากให้ลืมเรื่องการเลือกตั้งไปก่อน อย่างน้อยๆ เราทำงานไปก่อน 1 ปี และเหลือเวลาอีก 5-6 เดือน ค่อยมาคุยเรื่องนี้ ผมก็คิดว่าเป็นไปได้ แต่วันนี้ไม่สมควรจริงๆ และนักการเมือง ผมบอกแล้วในสมองของคนพูดเรื่องการเมืองมันง่ายมันไม่ต้องคิดอะไร อะไรที่ผิดแปลกในสายตาแค่พูดออกมาก็เป็นการเมืองแล้ว”
ส่วนกระแสข่าวที่ออกมาเป็นแรงบีบและกดดันกลุ่มสามมิตรในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า เป็นเรื่องของงาน บางคนไม่มีโอกาสได้ทำงานในส่วนของรัฐบาล ของใครต่างๆ เรานั้น เราไปถามสื่อฉบับแรกที่เขียนออกมา เรารู้กันหมดแล้วว่าใครเป็นคนที่เริ่มตรงนี้ เราอย่าไปทำลายกัน
“ผมก็ไม่อยากที่จะพูด และยังไม่มีการพูดคุยกันทั้งสิ้นในเรื่องข่าวที่ออกมา ผมได้สอบถามคนที่รักกันในการเมืองไม่มีใครพูดคุย และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรทั้งสิ้น“ นายสมศักดิ์ ระบุ
อีก 1 แกนนำกลุ่มสามมิตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวเช่นกันว่า ไม่ทราบใครเป็นคนปล่อยข่าวนี้ แต่ยืนยันว่าโดยส่วนตัวไม่คิดจะไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งไม่ทราบว่าคนที่ปล่อยข่าวนี้มีวัตถุประสงค์อย่างไร และไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด “กลุ่มสามมิตร” จึงตกเป็นเป้าโจมตีบ่อยครั้ง
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้สอบถามถึงข่าวลือดังกล่าว และตนเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร มั่นใจในกลุ่มสามมิตรว่า ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากพรรคพลังประชารัฐ จึงไม่ต้องทำความเข้าใจอะไร ซึ่งในฐานะหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร เข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งนายกฯ ก็ไม่ได้สอบถามถึงกระแสข่าวนี้
“การเลือกตั้งครั้งหน้ากลุ่มสามมิตร ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และจะยังคงทำงานทางการเมืองร่วมกับ พล.อ.ประวิตร” นายสุริยะ ระบุ
จะว่าไปแล้ว... กระแสข่าวการย้ายพรรคของ “กลุ่มสามมิตร” คงจะยังเป็นข่าวอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร. และ “สามมิตร” มองว่ากลุ่มตนเองถูกลดทอนอำนาจในพรรคไปเรื่อยๆ
มีตัวอย่างความไม่พอใจของกลุ่มสามมิตร ที่เกิดขึ้นคือ กรณีการตัดสินใจวางตัวผู้สมัคร ส.ส.น่าน ที่ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส เลือกเปิดตัว นายฉัตรชัย จิตตรง เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จังหวัดน่าน ทั้งที่การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.2562 พลังประชารัฐ ส่ง นายดร งามธุระ ลงชิงส.ส.พื้ที่ดังกล่าว และกวาดมาได้ 22,640 คะแนน
สำหรับ ดร งามธุระ ถือเป็นสายตรงของ “กลุ่มสามมิตร” ที่หมดโอกาสได้ลุ้นลงส.ส.รอบหน้า
นี่จึงเป็นเหตุ ทำให้ “สมศักดิ์-สุริยะ” มีความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และยังไม่แน่ว่าจะมี ส.ส. หรือ ผู้สมัคร ส.ส. ของ “กลุ่มสามมิตร” ถูกเตะสกัดไม่ให้ลงชิงเก้าอี้ส.ส.อีกหรือไม่
สภาพของ “กลุ่มสามมิตร” ในพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ เข้าทำนองที่ว่า “หวานอมขมกลืน” คือ ตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่ว่าจะถูกกระทำดี หรือ ร้าย พอใจ หรือ ไม่พอใจ ก็ตาม...
++++
เปิดเส้นทาง“กลุ่มสามมิตร”
“กลุ่มสามมิตร”ภายใต้การนำของ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เติบโตมาจาก “กลุ่มวังน้ำยม” และ “กลุ่มมัชฌิมา”
สำหรับ “สุริยะ” ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เก็บตัวเงียบ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
ขณะที่ “สมศักดิ์” มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังรัฐประหาร 2549 ได้แยกตัวออกจากพรรคไทยรักไทย หลังถูกยุบพรรค มาก่อตั้ง “พรรคมัชฌิมาธิปไตย” โดยมี “อนงค์วรรณ เทพสุทิน” ภรรยา เป็นหัวหน้าพรรค และร่วมรัฐบาลกับ “รัฐบาลพลังประชาชน” ที่มี สมัคร สุทรเวช เป็นนายกฯ
ต่อมาเมื่อ “พลังประชาชน” ถูกยุบพรรค พ่วงด้วยพรรคมัชฌิมาฯ และพรรคชาติไทย ทำให้ “สมศักดิ์-องค์วรรณ” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
“สมศักดิ์” จึงหอบหิ้วสมาชิกที่หลงเหลืออยู่ ไปร่วมกับกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ในค่ายพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นนายกฯ
หลังเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง “อภิสิทธิ์” ตัดสินใจยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค.2554 ขณะที่พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ทำให้ สมศักดิ์ ตีจากพรรคภูมิใจไทย กลับไปสั่งกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2556
กระทั่งเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 พรรคการเมืองทุกพรรคเก็บตัวเงียบ มาเริ่มมีความเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงปลายปี 2560 และมีความคึกคักขึ้นในช่วงต้นปี 2561
“สมศักดิ์-สุริยะ” นำทีมอดีตส.ส.กว่า 60 ชีวิต ย้ายเข้าสังกัด “พลังประชารัฐ” ท่ามกลางการต้อนรับของ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาฯ พรรค ผ่านการประสานจาก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ส่งผลให้พลังประชารัฐ กวาดเก้าอี้ส.ส.เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้ง เมื่อ 24 มี.ค.2562 และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดัน “ลุงตู่” ขึ้นเป็นนายกฯ สมัย 2
ประวัติศาสตร์ของ “กลุ่มสามมิตร” คงยังไม่จบแค่นี้ แต่จะถูกบันทึกขึ้นอีกอย่างไร น่าติดตาม...