“พิมพ์รพี”ทวงบี 10 คืนชาวสวนปาล์มห่วงปีหน้ายกเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ

17 ธ.ค. 2564 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2564 | 20:30 น.

“ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล” ทวง บี 10 คืนชาวสวนปาล์ม ห่วงปีหน้า ถึงเส้นตายยกเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำเกษตรกรสวนปาล์ม-มันสำปะหลัง-อ้อย กระทบหนัก วอนให้เวลาปรับตัว 10 ปี ค่อยเลิกอุดหนุน

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลคืนบี 10 ให้ชาวสวนปาล์ม เพราะกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 กำหนดไม่ให้มีการอุดหนุนราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง แก๊สโซฮอล์ E20 E85 ไบโอดีเซล B10 และ B20 ภายใน 3 ปี จะครบเส้นตายในปีหน้า ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือเกษตรกร ชาวสวนปาล์ม 

 

จึงอยากให้ย้อนดูนโยบายรัฐบาลที่เคยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์ม ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มราว 6 ล้านไร่ มีน้ำมันปาล์ม 3 ล้านตันต่อปี ใช้เพื่อการบริโภคร้อยละ 40 และร้อยละ 60 ใช้เพื่อการพลังงาน  
ก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศจะใช้บี 20 เป็นน้ำมันเพื่อการเกษตร บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานทั่วไป และบี 7 แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังเข้าสู่โหมดลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงเหล่านี้ มีคำถามว่าแล้วผลผลิตที่จะล้นตลาด เนื่องจากความต้องการลดลงจะทำอย่างไร รัฐบาลมีแผนรองรับหรือยัง

“แม้ว่าจะมีการระบุอาจขยายเวลาไปอีกสองปี แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรการรับมือที่ชัดเจนว่าจะลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรชาวสวนปาล์ม รวมถึงมันสำปะหลัง และอ้อยอย่างไร ที่ผ่านมามีการมองเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นผู้ร้ายเอาแต่ได้ เพราะราคาปาล์มขณะนี้สูง แต่อยากให้เข้าใจว่า ราคาปัจจุบันที่สูงขนาดนี้คือรอบยี่สิบปี ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาท่องเที่ยวที่ฟุบยาว ทำให้พอลืมตา อ้าปากได้บ้าง 

 

เกษตรกรไม่ได้อยากได้ราคาดีแล้วทำให้สังคมเดือดร้อน แต่พวกเขาอยากได้โครงสร้างราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้มีรายได้ที่ยั่งยืน โดยรัฐไม่ต้องเสียเงินไปอุ้ม การใช้เงินในกองทุนน้ำมัน ก็ควรชัดเจนว่าเมื่อจ่ายเงินอุดหนุนไปแล้ว ถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ หรือตกหล่นระหว่างทาง เพราะราคาหน้าโรงงานกับราคาที่เกษตรกรขายไปมีส่วนต่าง 2-3 บาท ส่วนนี้ไปอยู่ในมือใคร”

ดร.พิมพ์รพี ยังเสนอให้มีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรม ลดความซ้ำซ้อนเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดค่าการตลาดให้อยู่ในอัตราที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่พุ่งเป้าว่าน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นจำเลยทำให้น้ำมันแพงอย่างเดียว ขณะนี้มีการปรับสูตรเหลือแค่บี 7 เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึง มีนาคม ปีหน้า เพื่อกดราคาดีเซลให้อยู่ที่ 28 บาท ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืนอยู่ดี 

 

การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันต่างหาก จะเป็นคำตอบที่ยั่งยืน การจะลดการอุดหนุนพลังงานชีวภาพ รัฐต้องสื่อสารกับเกษตรกร จะมีแผนลดพื้นที่ปลูกหรือไม่ ถ้าลดพื้นที่ปลูกจะส่งเสริมให้เกษตรกรไปทำอะไร จัดงบประมาณรองรับไว้หรือยัง ไม่ใช้ให้เกษตรกรไปตายเอาดาบหน้า แต่ควรมีเวลาให้เกษตรกรได้ปรับตัว 10 ปี จึงค่อยเข้าสู่โหมดยกเลิกการอุดหนุน 

 

“สิ่งที่รัฐบาลต้องพึงระลึกเสมอคือ ต้องรับผิดชอบกับทุกนโยบายของรัฐ ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบายใหม่ แล้วไม่สนใจผลกระทบจากนโยบายเดิม เพราะสุดท้ายคนรับเคราะห์คือเกษตรกร พร้อมคำถามว่า จะเชื่อใจนักการเมืองได้หรือไม่ อย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้” ดร.พิมพ์รพี ระบุ