พรรคกล้า เปิด 5 นโยบาย ปฎิรูประบบราชการ สู่ Govetech

22 ธ.ค. 2564 | 03:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 10:56 น.

พรรคกล้า เปิด 5 นโยบาย ปฏิรูประบบราชการประเทศไทย สู่ Smart Nation และ Government Techonology ผลักดันนวัตกรรมใหม่ให้เกิด ด้วยโครงสร้าง ภาษี และ เงินทุน

22 ธ.ค.2564 - นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เสนอ นโยบายหลักของพรรคกล้า โดยระบุ 5 หัวข้อ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการปฎิรูประบบราชการ โครงสร้างภาษีเงินทุน
และนวัตกรรมทางการเงิน สู่ Smart Nation  ว่า การปฏิรูประบบราชการให้ประเทศไทย เป็น Smart Nation เป็นเรื่องเร่งด่วน 

 

ทั้งนี้ เราต้องใช้ Government Techonology มาสร้างโอกาสเติบโต ลดต้นทุนชีวิตคนไทย และเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก การจะทำให้เป็นจริงได้ ดังนี้ 

1. เปลี่ยนระบบราชการให้เป็นแบบ One Click Government 

การติดต่อกับราชการต้องง่าย ระบบข้อมูลประชาชนต้องเป็นดิจิทัล รวมศูนย์ และเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานราชการ การยืนยันตัวตนต้องเป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดขั้นตอน ลดเวลาการติดต่อ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนและภาคธุรกิจ 

 

2. สังคมไร้เงินสด Cashless Society ลดต้นทุนทางการเงิน 

ปฏิรูประบบการเงินไปสู่รัฐไร้เงินสด โดยทำให้ทุกธุรกรรมทางการเงินอยู่ในระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการเข้าถึงการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น กรณีเงินเยียวยาต้องถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็วและตรงจุด
 

พรรคกล้า เปิด 5 นโยบาย ปฎิรูประบบราชการ สู่ Govetech

3. การปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างระบบราชการ 

เพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการโดยเริ่มจากการปรับตัวชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI ของทั้งหน่วยงานและตัวบุคคลให้เป็น performance-base โจทย์การทำงานคือการเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การเลื่อนตำแหน่งต้องถูกวัดจากผลงานโดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในกระบวนการประเมินเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม ส่งผลทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและคนทำงานมีกำลังใจในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างเต็มที่

 

4. เชื่อมโยงข้อมูลแบบ One Data และ Open Government Data 

รวบรวมข้อมูลจำเป็นในด้านต่างๆ ทั้งภาคการค้า เกษตร อุตสาหกรรมและการบริการ โดยเปิดให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลกลางเพื่อเอาไปพัฒนาต่อยอดสร้างโอกาสได้ และรวมถึงทำให้โปร่งใสในการตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ

 

5. ผลักดันนวัตกรรมใหม่ให้เกิดด้วยโครงสร้าง ภาษี เงินทุน 

เพื่อให้ประเทศไทยแข่งได้ในเวทีโลก นวัตกรรมใหม่ๆ ต้องถูกผลักดันให้เกิดขึ้นให้มากที่สุดผ่านหลายกลไก ทั้งการปรับโครงสร้างกฎหมาย ปรับลดความซ้ำซ้อนหรือเปลี่ยนจากการกำกับที่มากเกินไปให้เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถสร้างโอกาสด้านนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกสนับสนุนด้านภาษี และการเข้าถึงแหล่งทุนที่ง่ายมากขึ้น

 

" ประเทศไทยและคนไทยจะแข่งขันได้ต้องมีการปฏิรูปให้เป็นระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในทุกมิติ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงคือ ‘Mindset’ หรือ ทัศนคติ ของผู้นำประเทศ รัฐบาล และระบบราชการ ที่ต้องปรับให้เข้าใจและเปิดกว้างในการยอมรับความเปลี่ยนแปลง และพร้อมทำงานบนความโปร่งใสเป็นอันดับแรก"