วันนี้(10 ม.ค.64) ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาห้ามอธิบดีกรมศิลปากรกระทำการกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานเฉพาะส่วนที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารคัดค้าน
คดีนี้ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ยื่นฟ้องอธิบดีกรมศิลปากร ว่า อธิบดีกรมศิลปากร ได้ส่งรายงานการสำรวจพื้นที่ แผนผังบริเวณ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารมาให้วัดฯ ทราบ ซึ่งตามรายงานการสำรวจโบราณสถานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่โบราณสถานมีสิ่งสำคัญในบริเวณโบราณสถาน คือ
พระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวง วิหารธรรมศาลา วิหารทับเกษตร วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม (วิหารศรีธรรมโศกราช) วิหารพระแอด (วิหารพระมหากัจจายนะ) วิหารโพธิ์พระเดิม ระเบียงคด มณฑปพระพุทธบาทจำลอง เจดีย์ราย เจดีย์หน้าบานประตูเหมรังสี ซุ้มประตูเยาวราช และสถูปเจดีย์หินหกเหลี่ยม
โดยทางวัดฯ เห็นว่า การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการกำหนดเขตโบราณสถาน ที่รวมพื้นที่ของวัดทั้งหมด โดยวัดฯ ยินยอมให้กันแนวเขตโบราณสถานได้บางส่วน ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารโพธิ์พระเดิม ระเบียงคด มณฑปพระพุทธบาทจำลอง เจดีย์ราย และกำแพงวัด
ส่วนวิหารโพธิ์พระเดิมและมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากร กำหนดที่ดินโดยรอบและที่ดินบริเวณส่วนอื่นภายในเขตกำแพงของวัดทั้งหมดเป็นเขตของโบราณสถานด้วย วัดฯจึงขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกำหนดแนวเขตที่ดินโบราณสถานของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (เฉพาะส่วน) ในเขตพื้นที่สีขาวตามผังบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาพิพากษาห้ามอธิบดีกรมศิลปากรกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานเฉพาะส่วนที่วัดคัดค้านเนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่า วัดฯ ไม่คัดค้านการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน รายการสิ่งสำคัญจำนวน 16 รายการ ได้แก่
1. พระบรมธาตุเจดีย์ 2. พระวิหารหลวง 3.วิหารธรรมศาลา 4. วิหารทับเกษตร
5.วิหารพระทรงม้า 6.วิหารเขียน 7. วิหารโพธิ์ลังกา 8. วิหารสามจอม (วิหารศรีธรรมโศกราช)
9.วิหารพระแอด (วิหารพระมหากัจจายนะ) 10.ระเบียงคด 11.เจดีย์ราย 12. เจดีย์หน้าบานประตู
เหมรังสี 13. ซุ้มประตูเยาวราช และ 14. สถูปเจดีย์หินหกเหลี่ยม 15. วิหารโพธิ์พระเดิม และ 16.มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
เมื่อสิ่งปลูกสร้าง16 รายการดังกล่าว สร้างขึ้นโดยมีลักษณะและรูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมแตกต่างกัน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมหลายยุคสมัย ได้แก่
วัฒนธรรมศรีวิชัย วัฒนธรรมอยุธยา วัฒนธรรมธนบุรี และวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่18-25 จึงมีลักษณะเป็นโบราณสถาน อธิบดีกรมศิลปากร จึงมีอำนาจขึ้นทะเบียนโบราณสถานสิ่งก่อสร้างจำนวน 16 รายการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถานได้ตามมาตรา 7วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
ส่วนการกำหนดเขตที่ดินของวัดฯ เป็นเขตของโบราณสถานนั้น เห็นว่า แม้คดีกรมศิลปากรจะมีอำนาจดุลพินิจในการกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน ซึ่งในทางกฎหมายให้ถือว่าเป็นโบราณสถาน การใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวต้องคำนึงถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2504 ด้วย เมื่อตามแผนผังบริเวณที่ดินของวัดฯรับฟังได้ว่า บริเวณทิศเหนือที่ดินของ
วัดมีสิ่งสำคัญ คือ วิหารโพธิ์พระเดิม และมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้กำหนดเป็นโบราณสถาน บริเวณโดยรอบมีสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ คือ กุฏิศาลา และอาคารต่าง ๆ เช่น อาคารอเนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติ อาคารพุทธสมาคมนครศรีธรรมราช อาคาร 26 ศตวรรษ หอระฆัง บริเวณทิศใต้ที่ดินของวัดฯ ไม่มีสิ่งสำคัญที่ถูกกำหนดเป็นโบราณสถาน
การที่อธิบดีกรมศิลปากรกำหนดเขตที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารบริเวณด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของวัด ซึ่งอยู่ภายในบริเวณรั้วของวัดทั้งหมด และไม่ได้เป็นที่ดินส่วนที่ติดต่อกับที่ตั้งโบราณสถานรายการที่ 1-14 ประกอบกับไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่า ขอบเขตโบราณรายการที่ 15 วิหารโพธิ์พระเดิม และรายการที่ 16 มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งแยกออกจากกลุ่มโบราณสถานรายการที่ 1-14 มีขอบเขตอย่างไร
และการกำหนดเขตที่ดินโดยรอบโบราณสถานให้เป็นเขตของโบราณ ซึ่งในทางกฎหมายให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วย มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกำหนดพื้นที่กำหนดภายในกำแพงของวัดทั้งหมด เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลรักษาโบราณสถาน การบูรณะ การซ่อมแซม โบราณสถานอย่างไร และการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตของโบราณสถานของวัดซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 7 ทวิวรรคหนึ่ง และมาตรา10 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2521
ที่กำหนดห้ามปลูกสร้างอาคารภายในเขตโบราณสถาน หรือ ภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย อันเป็นการรอนสิทธิหรือจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่วัด คือ ที่ตั้งของวัด ตลอดจนเขตของวัด และที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด ซึ่งกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์และการโอนกรรมสิทธิ์ไว้ตามมาตรา 33 และมาตรา34 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2504
"ดังนั้นการที่อธิบดีกรมศิลปากรใช้อำนาจกำหนดเขตที่ดินเฉพาะส่วนที่วัดฯคัดค้าน การกำหนดให้เป็นเขตของโบราณสถานซึ่งถือเป็นโบราณสถานด้วย จึงเป็นการใช้อำนาจรอนสิทธิหรือจำกัดสิทธิเหนือพื้นดินของวัดฯทำนองเดียวกับการใช้อำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 2562และถือเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานที่เกินส่วนแห่งความจำเป็นตามมาตรา 37 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญจึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"