ส่องงบจัดซื้ออาวุธ 3 เหล่าทัพ ยุครัฐบาล“บิ๊กตู่”

12 ม.ค. 2565 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 20:55 น.

ส่องงบประมาณซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ 3 เหล่าทัพ ยุครัฐบาลประยุทธ์ หลัง ครม.อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ เสนอของบประมาณ ปี 2566 จำนวน13,800 ล้านบาท

จากกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ เสนอของบประมาณ ปี 2566 จำนวน13,800 ล้าน โดย 4 เครื่องแรก จัดซื้อผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 นั้น  

 

ย้อนดูงบประมาณกระทรวงกลาโหม ยุครัฐบาล “ประยุทธ์” จัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์อะไรบ้าง  ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติรอบด้าน 

 

ส่องงบซื้ออาวุธ ปี 2563-65

 

จากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ส่งผลให้การจัดสรรงบให้กับกระทรวงกลาโหม ในช่วง ปี 2563 ถึง 2565 ถูกปรับลดลง โดย ปี 2563 ได้รับงบประมาณ231,745 ล้านบาท  ส่งคืน 18,022 ล้านบาท เพื่อแก้ไขโควิด-19 และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น , ปี 2564 ได้รับงบประมาณ 214,530 ล้านบาท  ลดลง 1.7 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2563 และ ปี 2565   และปี 2565 กระทรวงกลาโหม เสนอของบประมาณ 203,282 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปรับลดงบประมาณลง การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม หนีไม่พ้นการตรวจสอบงบประมาณจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ของ 3 เหล่าทัพ โดยในปี 63 หากจำกันได้ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 63 เกิดปรากฎการณ์ แฮชแท็ค “#ยานเกราะพ่องง” ขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์ประเทศไทย เกี่ยวเนื่องกับ การจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่มีรายละเอียดเอกสารแนบท้ายเป็น โครงการจัดซื้อจัดจ้าง ยานเกราะล้อยาง พร้อมระบบอาวุธ และการบริการเทคนิค จำนวน 50 คัน โดยวิธี FMS (Foreign Military Sales) งบประมาณโครงการ 4,515 พันล้านบาท 

แต่เมื่อมีการชี้แจงจากกองทัพบก กลายเป็นว่า การจัดซื้อแบบ “ผูกพันข้ามปี” ระหว่าง 2563-2565 เดิมมีแผนที่จะใช้งบประมาณปี 2563 จำนวน 900 ล้านบาท เมื่อให้มีการปรับลดประมาณเกิดขึ้นก็จะเหลือให้ใช้เพียง 450 ล้านบาท

ส่องงบจัดซื้ออาวุธ 3 เหล่าทัพ ยุครัฐบาล“บิ๊กตู่”

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท  กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรร 214,530 ล้านบาท  กองทัพบกได้รับจำนวน 105,979 ล้านบาท , กองทัพเรือ  จำนวน 42,437 ล้านบาท , กองทัพอากาศ   จำนวน 39,093 ล้านบาท  

 

ในส่วนของการจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ กองทัพอากาศ  เสนอโครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 จากสาธารณรัฐเกาหลี (ระยะที่ 4) 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 เครื่อง (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้าน โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินลําเลียงขั้นต้น 4 เครื่อง วงเงิน 233 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2563-2564 เป็นต้น


กองทัพเรือ ปรับลดงบประมาณลงกว่า 33% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณกว่า 4,100 ล้านบาท โดยชะลอการดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 
           

กองทัพบก มีการจัดซื้อโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “ยานรบ” ทั้งยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ซึ่งซื้อผ่านโครงการความช่วยเหลือทางด้านการทหารจากสหรัฐ หรือ “เอฟเอ็มเอส” และรถถัง VT-4 จากประเทศจีน เป็นต้น

ส่องงบจัดซื้ออาวุธ 3 เหล่าทัพ ยุครัฐบาล“บิ๊กตู่”

ปี 65 งบซื้ออาวุธ เหล่าทัพละ 20% 

การจัดสรรงบกระทรวงกลาโหม ในปี 2565   แยกเป็น งบประมาณของ กองทัพบก 99,376.8 ล้านบาท จากเดิมปี 2564 จำนวน 105,979.8 ล้านบาท ,กองทัพเรือ 41,307.4 ล้านบาท จากเดิม 42,437.1 ล้านบาท ,กองทัพอากาศ 38,404.8 ล้านบาท จากเดิม 39,093.6 ล้านบาท ,กองบัญชาการกองทัพไทย 14,580.1 ล้านบาท จากเดิม16,528.8 ล้านบาท ทั้ง 3 เหล่าทัพ ตั้งงบสำหรับโครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ เหล่าทัพละ 20% จากงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล


กองทัพบก ขอตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเกือบ 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วย จัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไประยะที่ 2 จำนวน 3,500 ล้านบาท การจัดหารถกู้ซ่อม จำนวน 677 ล้านบาท การจัดหาเครื่องช่วยฝึกเทคโนโลยีขั้นสูง 600 ล้านบาท การจัดหาระบบควบคุมการยิงของรถถังเอ็ม 60 จำนวน 720 ล้านบาท
ส่วนที่สอง เป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีอีก 6,000 ล้านบาท ทั้ง รถถัง VT-4 จำนวน 689 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี จำนวน 1,690 ล้านบาท ยานเกราะ Stryker (งบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 2 ระยะ) จำนวน 2,560 ล้านบาท


กองทัพเรือ  แม้ว่าจะไม่มีแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำในงบประมาณปี 2565 แต่ก็ยังมีแผนจัดซื้อจัดหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบการสื่อสารควบคุมบัญชาการเรือดำน้ำ จำนวน 300 ล้านบาท การก่อสร้างโรงจอดเรือดำน้ำ และอู่ซ่อมบำรุง จำนวน 650 ล้านบาท 
ส่วนโครงการอื่นๆ ของกองทัพเรือ มีทั้ง การจัดหาอากาศยานไร้คนขับ จำนวน 5,000 ล้านบาท การปรับปรุงชุดเรือหลวงปัตตานี จำนวน 3,300 ล้านบาท การจัดหารถยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 813 ล้านบาท การปรับปรุงเครื่องบินดอร์เนีย จำนวน 800 ล้านบาท การจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ จำนวน 997 ล้านบาท


กองทัพอากาศ ตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วน  คือ จัดหาเครื่องบินแบบที่ 19 (ทดแทน PC-9) จำนวน 1,800 ล้านบาท จัดหาเครื่องบินเครื่องบินโจมตีขนาดเบา (ทดแทน L-39) จำนวน 900 ล้านบาท
อีกส่วนเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี ได้แก่ การปรับปรุง Software Gripen จำนวน 1,700 ล้านบาท เครื่องบินโจมตี AT-6 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท เครื่องบินขับไล่-ฝึก T 50 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท ปรับปรุงอัลฟ่าเจ็ต จำนวน 1,200 ล้านบาท

 

ส่วนการจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ในงบประมาณปี 66 ต้องจับตาใกล้ชิด หลัง "บิ๊กตู่"สั่งให้เหล่าทัพจัดลำดับความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธ ส่งผล "ทร." ถอยเรือดำน้ำลำที่ 2-3 หลังถูกโจมตี และต่อต้านอย่างหนัก