นายรณกาจ ชินสำราญ พร้อมด้วย ดร.ชนิดา จารุจินดา คณะทำงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พรรคไทยสร้างไทย ลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนของชาวสาทร และบางรักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา พบพ่อค้าแม่ขายพี่น้องประชาชน เดือดร้อนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการระบาดของไวรัสโควิด แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่สนใจ พบข่าวการแย่งชิงอำนาจ การปะทะกันของนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำหลักของรัฐบาล หรือแม้แต่การเปิดประชุมสภาครั้งแรกของปี ก็ต้องพบกับเหตุสภาล่ม
ที่สำคัญยิ่งกว่า คือการทะเลาะกันของฝ่ายบริหาร โดยไม่สนใจ ปัญหาพี่น้องประชาชน เรื่องข้าวยากหมากแพง เรื่องปากท้อง เรื่องเงินในกระเป๋าที่ทุกคน กำลังหมดลงไปเรื่อยๆหรือบางรายติดลบ จนมีภาระหนี้สินรัดตัว ซึ่งยังไม่เห็นรูปธรรมหรือแผนงานใดๆที่จะสามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายรณกาจ มองว่า การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ยังไม่ตรงจุด ไม่ตอบโจทย์ พี่น้องประชาชนพ่อค้าแม่ขาย ที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากสินค้าราคาแพง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นราคาทุกชนิด แต่รัฐกลับไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือราคาสินค้าและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะใช้วิธีการนำงบประมาณจากภาษีประชาชนเกือบ 1,500 ล้านบาท มาเปิดโครงการขายสินค้าราคาประหยัด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถแก้ของแพงได้จริง ทั้งยังเป็นการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ซื้อสิ้นค้าจากนายทุน มาขายในราคาถูก แข่งขันกับพ่อค้าแม่ขายรายย่อย ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้วยังเป็นการเพิ่มภาระให้พี่น้องประชาชน คนค้าขายด้วย
นายรณกาจ ย้ำว่า จากการลงพื้นที่ พบว่า วัตถุดิบหลัก วัตถุดิบต่างๆ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ในอีกหลายชนิดทั้งของกินของใช้ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น
- น้ำมันปาล์ม จาก 55 => 59 บาท
- เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว จาก 38 => 42 บาท
- เครื่องปรุงต่างๆ ปรับขึ้น 10-20%
- กุ้งขาว 180 => 280 บาท/กก.
- อาหารทะเล ตามมาใกล้ๆกับกุ้งขาว
- ไก่สด ล่าสุดเมื่อวานทะลุ 80 บาทแล้ว
- ไข่ไก่ที่บอกปรับเพิ่ม 6 บาทต่อแผง ถ้าไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อหรือ super market ไข่ปรับเพิ่มมากกว่า 6 บาทครับ เพราะมีค่าขนส่ง และกำไรของผู้ค้าเพิ่มเติมอีก (ผู้ค้าก็รับมาที่ราคาปรับขึ้นแล้ว จึงตำเป็นต้องขายมีกำไรด้วย)
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกมาสะท้อน ให้ผู้มีอำนาจได้รับทราบเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นทันที ในเดือนนี้อย่างน้อย 10-20% ไม่ใช่ตัวเลขตามที่รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ อ้างว่าค่าครองชีพขึ้นตามเงินเฟ้อในกรอบ 1-3%
สภาวะดังกล่าวสวนทางกับรายได้ประชาชนที่ลดลงต่อเนื่อง เท่ากับว่ารายได้และเงินในกระเป๋าของทุกคน ลดลงทันที 10-20% ซึ่งยังมีตัวเลขคนตกงาน 900,000 คนในปีที่ผ่านมาค้ำอยู่ และหนี้สาธารณะอีก 9.6 ล้านล้านบาทที่ยังหาวิธีเพิ่มรายได้มาชดเชยไม่เจอ ไม่รวมตัวเลขของหนี้นอกระบบอีกมหาศาล
ขณะที่เสียงสะท้อนจากประชาชน ระบุ ในทิศทางเดียวกันว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำได้แค่บริโภคให้น้อยลง จากเดิมที่เคยรับประทาน 3 มื้อ อาจเหลือเพียง 2 มื้อหรือ 1 มื้อเท่านั้น อาหารที่ทำรับประทานเองแกง 1 หม้อต้องรับประทานให้ได้ 2 วัน พี่น้องประชาชนระบุว่าเบื่อมากอยากกินที่หลากหลายเหมือนเดิม
ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น ทำให้ต้องปรับตัว เน้นการกินผัดผักแกงผัก เป็นหลัก ซึ่งหลายคนไม่รู้จะปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไรได้แต่รอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไป ซึ่งไม่รู้เช่นกันว่าต้องใช้เวลาอีกนานเพียงใด รวมถึงประโยคที่มักได้ยินบ่อยๆจากการลงพื้นที่คือ "ยังไงก็ต้องสู้ไม่สู้ก็คงต้องตายแต่ก็ไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว