กรณีที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค.63 สำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา หลังจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า การเผยแพร่เทปบันทึกเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พล.ต.อ.วิระชัย กรณีคนร้ายลอบยิงรถยนต์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
รวมถึงประกาศของนายกรัฐมนตรี ที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค 2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
พล.ต.อ.วิระชัย เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำรองราชการ และคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับตามคำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้ก่อนจนกว่า ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็น ให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าการที่ พล.ต.อ.วิระชัย ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและต้องหาว่า กระทำผิดอาญา กรณีจึงอยู่ในเงื่อนไขที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะมีคำสั่งสำรองราชการได้ แต่คำสั่งสำรองราชการดังกล่าว ยังมีข้อสงสัยว่าจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อีกทั้งตามข้อ 8 วรรคสองของกฎ ก.ตร.ว่า ด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือส่วนราชการใดหรือสำรองราชการในส่วนราชการใด 2548 ได้กำหนดว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสำรองราชการ ในส่วนราชการใดให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันประจำหรือสำรองราชการตามมาตรา 104 ด้วย
ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค. 2563 ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจถือว่า คำสั่งดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนั้นศาลปกครองสูงสุดยังเห็นว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่คู่กรณีกับ พล.ต.อ.วิระชัย แต่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจบริหารงานบุคคลเพื่อให้มีความประพฤติอยู่ในกรอบของกฎหมาย
เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบจากสื่อมวลชนว่า มีคลิปบันทึกเสียงการสนทนาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการเกี่ยวกับข้าราชการกับ พล.ต.อ.วิระชัย เผยแพร่ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการลักลอบบันทึกเสียง จึงเป็นพฤติกรรมที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกิดความเสียหาย อีกทั้งยังอาจเป็นความผิดทางวินัยด้วย เมื่อพล.ต.อ.วิระชัย ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยกับ พล.ต.อ.วิระชัย ตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีมีสภาพร้ายแรงอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง
นอกจากนี้การให้คำสั่งดังกล่าว มีผลใช้บังคับต่อไป ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาภายหลัง เพราะหากศาลปกครองมีคำพิพากษาตามคำขอของ พล.ต.อ.วิระชัย ย่อมมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายในระหว่างถูกสำรองราชการและถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แต่หากศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคแก่ การบริหารงานของรัฐเพราะย่อมมีผลทำให้ พล.ต.อ.วิระชัย มีสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง และอาจทำให้ พล.ต.อ.วิระชัย ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี รวมทั้งอาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาต่อหน่วยงานตํารวจและกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐแล้วกรณี จึงเห็นได้ว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกรณี มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387 /2563 ลงวันที่ 29 ก.ค.2563 ที่สั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการและประกาศของนายกรัฐมนตรี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 สค. 2563 ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้เป็นการชั่วคราวตามคำขอ