วันที่ 25 มกราคม 256 นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฐานแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม แต่งตั้ง นายสราวุธ เบญจาธิกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งประธานศาลฎีกามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องทุจริตจัดซื้อจัดจ้างไปทำหน้าที่สำคัญในหน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดรัฐบาลหลายแห่ง อันอาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย ต่อตำแหน่งหน้าที่ และเป็นความผิดต่อจริยธรรมของนักการเมือง
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่นายสราวุธ กรณีมีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง และได้มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดแล้วก่อนหน้านี้ แต่หลังจากนั้นมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีชื่อนายสราวุธ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งนายวิษณุ เป็นผู้รับผิดชอบลงนามสนองพระบรมราชโองการ
"ทั้งที่นายวิษณุน่าจะรู้อยู่แล้วว่านายสราวุธมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว สมควรมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทบทวน และควรสอบถามความเห็นจากสำนักงานศาลยุติธรรมและประธานศาลฎีกาเสียก่อน แต่นายวิษณุกลับนิ่งเฉย"
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ยังได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ โดยแต่งตั้งให้นายสราวุธ ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการ ในคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุได้ร่วมประชุม มีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการไฟฟ้านครหลวง โดยมีชื่อนายสราวุธ ดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ต่ออีก 1 สมัย
กรณีแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ 3 กรณีเกิดขึ้นภายหลังประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว
"พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ย่อมทราบดีว่าต้นสังกัดไม่อาจอนุญาตให้นายสราวุธ ไปดำรงตำแหน่งอื่นใดนอกราชการศาลยุติธรรมได้ จึงเป็นการที่พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ใช้อำนาจในตำแหน่งแต่งตั้งหรือเห็นชอบให้นายสราวุธไปดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยพลการ เป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม และเป็นการด้อยค่า ทำลายความน่าเชื่อถือของประธานศาลฏีกา ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายสราวุธ เสมือนว่าเห็นว่าสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาล อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 193 และขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม จึงขอให้ ป.ป.ช.สอบสวน และดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 91 รวมทั้งตรวจสอบว่าการกระทำของบุคคลทั้งสองเป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วยหรือไม่"
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังพบว่า นายสราวุธ ยังดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาล เช่น ประธานกรรมการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ป.ป.ช., ประธานกรรมการธุรกรรมในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, กรรมการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อีกด้วย
สำหรับคำร้องร้องต่อป.ป.ชดังกล่าวนอกจากมีนายศรีอัมพร ลงชื่อยื่นแล้วยังมีนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นายนรพัฒน์ สุจิวรกุล รองอธิการบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ร่วมลงชื่อในคำร้องด้วย