thansettakij
"ซื้อหนี้ประชาชน" โมเดลช่วยคนไทย หรือเสี่ยงสร้างปัญหาใหม่?

"ซื้อหนี้ประชาชน" โมเดลช่วยคนไทย หรือเสี่ยงสร้างปัญหาใหม่?

28 มี.ค. 2568 | 05:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2568 | 05:12 น.

"ซื้อหนี้ประชาชน" โมเดลช่วยคนไทย หรือเสี่ยงสร้างปัญหาใหม่? บทความ โดยพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (อาจารย์ทอมมี่) อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย

ข้อเสนอ "นโยบายซื้อหนี้ประชาชน" ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศระหว่างปราศรัยที่พิษณุโลก เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนด้วยการซื้อหนี้จากธนาคาร ลดการผ่อนชำระ และล้างเครดิตบูโร เปิดโอกาสให้ประชาชนเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ แต่ใช้เงินลงทุนจากเอกชน กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองทั้งแง่บวกและความเสี่ยงที่อาจตามมา

แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นรูปแบบธุรกิจปกติของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ดำเนินการซื้อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากธนาคารในราคาต่ำกว่ายอดหนี้จริง แล้วนำมาบริหารจัดการติดตามหนี้ต่อ โดย AMC หวังกำไรจากส่วนต่างที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ซึ่งโดยทั่วไปจะต่ำกว่ายอดหนี้เดิม

กลไกนี้เคยถูกใช้ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ผ่าน บสท. และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงไทย (KTB AMC) ช่วยให้สถาบันการเงินลดภาระหนี้เสียและกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยมีมูลค่าสูงถึง 16.3 ล้านล้านบาท หรือ 89% ของ GDP โดยมีหนี้เสียกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8.8% ของสินเชื่อทั้งหมด แม้การดำเนินงานในรูปแบบ AMC จะฟังดูง่าย แต่ในทางปฏิบัติมีความท้าทายสำคัญ

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าภาคเอกชนจะสามารถระดมเงินทุนให้เพียงพอต่อการซื้อหนี้เสียจำนวนมหาศาลนี้หรือไม่ รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้ให้สำเร็จตามเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนและพิจารณาอย่างรอบคอบ

\"ซื้อหนี้ประชาชน\" โมเดลช่วยคนไทย หรือเสี่ยงสร้างปัญหาใหม่?

“ล้างเครดิตบูโร” ทางออกหรือดาบสองคม

สิ่งที่ต้องจับตามองคือ การล้างเครดิตบูโร เพราะแม้แนวทางนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเริ่มต้นชีวิตทางการเงินใหม่ได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับเป็น "ดาบสองคม" เนื่องจากข้อมูลเครดิตบูโรถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ธนาคารใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการชำระหนี้และประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ 

การล้างข้อมูลทั้งหมดอาจทำให้ธนาคารขาดข้อมูลสำคัญในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดหนี้เสียรอบใหม่สูงขึ้นกว่าเดิม แนวทางที่เหมาะสมอาจเป็นการผ่อนปรนข้อมูลเฉพาะบางส่วน และพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เพื่อให้ประชาชนที่มีศักยภาพกลับมาตั้งตัวใหม่ได้จริง โดยไม่สร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อระบบการเงินในระยะยาว

ความเสี่ยงเชิงพฤติกรรม: Moral Hazard

อีกประเด็นสำคัญคือความเสี่ยงเชิงพฤติกรรม (Moral Hazard) ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนบางส่วนขาดวินัยทางการเงิน หากผู้กู้เชื่อมั่นว่ารัฐบาล จะเข้ามาช่วยเหลือเสมอเมื่อเกิดปัญหา อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ชำระหนี้หรือขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี ในระยะยาวจะกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจที่หนักขึ้นกว่าเดิมได้ 

บทบาทของ AMC และโจทย์สำคัญ

บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เป็นกลไกสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างมากในนโยบาย “ซื้อหนี้ประชาชน” เพราะคือผู้ที่เข้ามารับช่วงหนี้เสียต่อจากธนาคาร และทำหน้าที่เจรจาเงื่อนไขใหม่กับลูกหนี้โดยตรง

ราคาที่ AMC ซื้อหนี้มานั้นมีผลโดยตรงต่อ “ภาระหนี้” ที่ลูกหนี้จะต้องชำระในอนาคต หากซื้อมาในราคาที่ต่ำมากพอ AMC ก็จะมีพื้นที่ในการปรับลดหนี้ ยืดระยะเวลาชำระ หรือปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย

กล่าวอีกมุมหนึ่งคือ สำหรับลูกหนี้ การเปลี่ยนเจ้าหนี้จากธนาคารมาเป็น AMC ไม่ได้แปลว่าหนี้หายไป แต่หมายถึง “โอกาสเริ่มต้นใหม่” ภายใต้เงื่อนไขที่อาจผ่อนปรนขึ้น โดยเฉพาะถ้า AMC บริหารหนี้ด้วยเป้าหมายระยะยาว และมองเห็นศักยภาพในการฟื้นตัวของลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม AMC เองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารหนี้ การเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินมูลค่าหนี้ ไปจนถึงการทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ซึ่งมีทั้งรายใหญ่และรายย่อยกระจายอยู่ทั่วประเทศ

การบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่แท้จริงจึงต้องอาศัยแบบจำลอง (Model) ที่รัดกุม และสมมติฐานที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในทางบัญชี หนี้เสียที่ AMC ซื้อเข้ามาจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า POCI (Purchased or Originated Credit-Impaired) ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ที่มีการด้อยค่าตั้งแต่แรกเริ่ม จึงต้องมีการประเมิน “ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” หรือ ECL (Expected Credit Loss) ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับสินทรัพย์มา เพื่อความโปร่งใสของงบการเงิน และป้องกันไม่ให้ตีมูลค่าสูงเกินจริง

หากการประเมินไม่รอบคอบพอ หรือประเมินศักยภาพลูกหนี้ผิดพลาด ก็อาจนำไปสู่ความเสียหายทางธุรกิจ และกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ได้ในที่สุด ดังนั้น บทบาทของ AMC จึงไม่ได้เป็นแค่ผู้รับช่วงหนี้ แต่คือ “ผู้จัดการความเสี่ยง” ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทน ความยั่งยืน และการจัดการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

แม้ว่านโยบายนี้มีเป้าหมายที่ดีในการช่วยลดภาระหนี้ประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ประสิทธิภาพของนโยบายจะขึ้นอยู่กับการดำเนินงานที่รัดกุม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ โดยภาครัฐต้องกำหนดมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน พร้อมส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงินแก่ประชาชนควบคู่ไปด้วย

หากจัดการได้ดี นโยบายนี้อาจช่วยสร้างสถานการณ์ win-win ทั้งประชาชน ธนาคาร และ AMC แต่หากขาดการบริหารจัดการที่ดี อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้

หน้า 14  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568