วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ 2565 การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสียในพื้นที่ จ.ยะลา โดยมี นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง นายวีรวัฒน์ ศิริกุลพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายนิพนธ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 20,000 คนต่อปี ส่วนคนเดินถนนในประเทศไทย ถูกรถชนเสียชีวิต ติด TOP 10 โลก ครองอันดับหนึ่งในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดเหตุจากถูกรถจักรยานยนต์ชน เห็นได้ชัดว่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศไทย
รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด ลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง และต่อเนื่องทั้งช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ โดยผ่านกลไกการทำงานของจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนถิ่น โดยชเฉพาะการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิด “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เป็นฐานนำไปสู่อำเภอขับขี่ปลอดภัย
“จึงขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง และให้ผู้นำชุมชน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการด้านสังคมและชุมชนอย่างเคร่งครัด เพื่อเฝ้าระวังตรวจตราป้องปรามและตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570ควบคู่กับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อนำไปสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” นายนิพนธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ดำเนินการสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ อ.เบตง โดยได้สั่งการสำนักงานที่ดินสาขาอำเภอเบตง ทำแผนการเดินสำรวจการออกโฉนดที่ดิน เพื่อจะได้บรรจุแผนดังกล่าวในปีงบประมาณ 2566 หลังจากเสร็จการประชุม ได้ให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่กองกำลังภาคประชาชน และได้ร่วมทาสีทางม้าลายบริเวณตู้ไปรษณีย์เบตงที่สูงที่สุด เนื่องจากบริเวณดังกล่าว หลังเปิดเมืองเบตงทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเช็กอิน เพื่อให้มองเห็นเด่นชัด พร้อมดำเนินการปรับปรุงป้ายเครื่องหมายสัญญาณเตือนก่อนถึงทางม้าลายให้มีความชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในการใช้รถใช้ถนน
จากนั้นเวลา 13.00 น. ที่เทศบาลเมืองเบตง นายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธานการประชุม การจัดการน้ำเสีย ในพื้นที่เทศบาลเมืองเบตง และร่วมเป็นสักขีพยาน ลงนามในบันทึกความร่วมมือการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม (MOU) เทศบาลเมืองเบตง กับองค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมีแนวคิดในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้มีโครงสร้างใต้ดิน และออกแบบพื้นที่ด้านบน ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เป็นพื้นที่พักผ่อน เพื่อให้ประชาชน ได้มาใช้ประโยชน์ ในการออกกำลังกาย เช่นเป็นสนามฟุตบอลหญ้าเทียมกลางแจ้ง หรือให้ก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างสูงสุด
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การดำเนินการขององค์การจัดการน้ำเสียในพื้นที่ เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและการดำรงชีวิตของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ตลอดจนข้อแนะนำในทางปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสีย เพื่อให้สามารถเร่งดำเนินการจัดการน้ำเสียในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการจัดการน้ำเสียชุมชน
ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมด่านศุลกากรเบตง เพื่อรับฟังการบรรยายความพร้อมในการเปิดด่านรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่คาดการณ์ว่าจะเปิดด่านพรมแดนในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อมีความพร้อม และได้เดินทางไปสนามบินเบตง เพื่อตรวจเยี่ยมในการเตรียมความพร้อม โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมท่าอากาศยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพาตรวจสอบความพร้อมของสนามบิน อาคารผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยาน
ซึ่งการเปิดเที่ยวบินของท่าอากาศยานเบตง จะช่วยแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และภาคธุรกิจการเกษตรโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตรที่จะสามารถส่งถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อประชาชนชาวเบตงและจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและรายได้สู่ภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี