วันนี้ ( 4 ก.พ.65) มีรายงานว่า นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการเลขาธิการกกต.ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีหนังสือที่ 0015/1546 ลงวันที่ 4 ก.พ.2565 แจ้งผลการตรวจสอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ อดีตส.ส.ที่พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับรวม18 คน กลับไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ตามที่ก่อนหน้านี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือสอบถามมา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 โดยหนังสือของนายแสวง ระบุว่า ได้ตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จากระบบข้อมูลพรรคการเมืองของ กกต. พบว่า มี ส.ส.สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565
อย่างไรก็ตาม กรณีมติขับ 21 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ยังคงเป็นปัญหา โดยนอกจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นหนังสือขอให้กกต.ตรวจสอบแล้ว ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมัย รามัญอุดม ซึ่งอ้างเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมพวกรวมกว่า100 คน ได้ยื่นคำร้องต่อกกต. ตามมาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
โดยอ้างว่า มติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.พปชร.รวม 21 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงาน กกต. ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนเสนอกกต.พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมกกต.ในวันที่ 14 ก.พ. พร้อมกับหนังสือพรรคพลังประชารัฐ ที่รายงานมติขับ21ส.ส. และหากกกต.เห็นว่า การดำเนินการมีมติขับดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับกำหนด ก็จะมีมติรับทราบตามกระบวนการ ก่อนมีหนังสือแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน ซึ่งจะทันเส้นตาย 30 วัน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ มาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 บัญญัติว่า ในกรณีสมาชิกซึ่งเป็นส.ส.คนหนึ่งคนใด หรือ สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายอื่นให้ร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ถ้าคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า มติใดของพรรคการเมืองขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือ กฎหมายอื่นให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้มีอำนาจ